วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

ผู้นำกับการสร้างความไว้วางใจในองค์กร

          ท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ ผู้เขียนอยากที่จะแบ่งปันแนวความคิดสำคัญประการหนึ่ง ที่เป็นราฐานของความสำเร็จในการเป็นผู้นำที่ยั่งยืน คือ การสร้างความไว้วางใจให้เกิดขี้นในองค์กร
คำว่า Trust หรือความไว้วางใจ มีความหมายที่ลึกซึ้งและยิ่งใหญ่ ความไว้วางใจเป็นสิ่งที่ทรงพลัง และสร้างผลกระทบอย่างมากมายในเชิงพฤติกรรมและผลการปฏิบัติงาน หากสมาชิกในทีมงานหรือหน่วยงานใดทำงานร่วมกันในบรรยากาศของความเชื่อมั่น ไว้วางใจซึ่งกันและกัน การปฏิบัติงานย่อมดำเนินไปด้วยความราบรื่น ไม่ต้องคอยวิตกกังวลว่า จะมีการแทงข้างหลัง หรือให้ร้ายกันลับหลัง การทำงานย่อมเป็นไปอย่างสอดประสานร่วมมือกัน สมาชิกในทีมกล้าที่จะแสดงออก หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเปิดกว้าง แม้ว่าจะมีปัญหาหรืออุปสรรคเกิดขึ้น ทุกคนต่างร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขปัญหาจนสำเร็จลุล่วงไปได้

ความไว้วางใจกับมาตรฐานทางจริยธรรม         มาตรฐานทางจริยธรรมของบุคคลมีผลต่อความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ หากผู้นำมีระดับมาตรฐานทางจริยธรรมต่ำ เช่น นักกการเมืองไทยบางคน อาจเคยมีประวัติเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่น หรือมีความสัมพันธ์พิเศษที่เอื้อประโยชน์กับนายทุนบางกลุ่ม เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี และคิดจะทำโครงการต่างๆ ประชาชนก็ย่อมไม่ไว้วางใจในความโปร่งใสของโครงการ เนื่องจากอาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือการจ่ายค่าคอมมิชชั่นใต้โต๊ะเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงมีการต่อต้านจากประชาชนในกลุ่มต่างๆ

มาตรฐานทางจริยธรรมส่วนบุคคล        มาตรฐานทางจริยธรรมส่วนบุคคล ก็มีผลต่อความไว้วางใจเช่นกัน เช่น กรณีของนาย John Edwards อดีตผู้สมัครที่เป็นตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ซึ่งมีประวัติการทำงานที่ดีเยี่ยมและมีภาพลักษณ์ที่ดีมาโดยตลอด ต่อมาได้มีสื่อมวลชนไปสืบพบว่า เขามีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับหญิงที่ไม่ใช่ภรรยาตนเอง ขณะที่ภรรยาป่วยเป็นมะเร็งอยู่ เรื่องนี้ทำให้ประชาชนที่เคยเคารพและเชื่อมั่น ไว้วางใจเขา ต่างเสียความรู้สึกอย่างรุนแรงต่อพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมของนาย John Edwards ผู้เคยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีว่าเป็นคนรักครอบครัว ว่าจริงๆ แล้วเป็นคนโกหก เรื่องดังกล่าวย่อมส่งผลต่ออนาคตทางการเมืองของนาย John Edwards ในระยะยาวอย่างแน่นอน
         นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของปัญหาด้านจริยธรรมส่วนตัวที่ส่งผลต่อความไว้วางใจ เพราะบุคคลที่เป็นผู้นำหรือผู้บริหารขององค์กรย่อมถูกคาดหวังให้เป็นตัวอย่างที่ดี มีความน่าเชื่อถือ เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรมสูงกว่าคนทั่วไป ทั้งในเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน ในสังคมตะวันตกมองว่า หากผู้นำไม่สามารถบริหารควบคุมความประพฤติส่วนตัวของตนให้ถูกต้องได้ ย่อมไม่สามารถที่จะทำงานใหญ่ในการบริหารปกครองประเทศได้อย่างประสบความสำเร็จ
        ในระดับองค์กรก็เช่นกัน พนักงานย่อมต้องการทำงานกับผู้นำที่พวกเขาสามารถให้ความไว้วางใจและพึ่งพิงได้ และนำพาพวกเขาก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคต่างๆ แต่หากผู้นำไม่น่าไว้วางใจ เช่น มีพฤติกรรมทุจริตคอรัปชั่น หรือ ไม่มีความยุติธรรมในการบริหารคน เช่น เลื่อนขั้นให้ลูกน้องที่มีความสนิทสนมเป็นส่วนตัว แต่มองข้ามลูกน้องที่มีผลการปฏิบัติงานดี การกระทำเหล่านี้ ย่อมทำให้ลูกน้องไม่เชื่อถือ และไม่ไว้วางใจ ส่งผลต่อขวัญและกำลังใจในการทำงาน และผลการปฏิบัติงานของพนักงาน ทั้งยังทำลายบรรยากาศที่ดีในการทำงานเป็นทีม แต่สร้างบรรยากาศแห่งการแก่งแย่งชิงดีขึ้นมาแทนที่

การสร้างความไว้วางใจในการติดต่อธุรกิจ
          การที่คนๆหนึ่งจะได้รับความไว้วางใจจากคนอื่นนั้น ย่อมไม่ใชเรื่องง่าย ต้องอาศัยความพยายาม การอุทิศตนและระยะเวลานานพอสมควร แต่ถ้าได้รับความไว้วางใจแล้ว การดำเนินงานทุกอย่างย่อมเป็นไปด้วยความราบรื่นและรวดเร็ว เปรียบเทียบได้กับกรณีของพนักงานขาย ที่หากต้องขายสินค้าให้แก่ลูกค้ารายใหม่ กว่าจะปิดการขายได้ ย่อมต้องใช้เวลาหลายครั้งในการไปเข้าพบลูกค้า สร้างความสัมพันธ์ และสร้างความมั่นใจ ต้องลงทุนลงแรงอย่างมาก กว่าลูกค้าจะตัดสินใจซื้อ ขณะที่การขายสินค้าให้ลูกค้าเก่า ที่เราเคยให้บริการมาแล้วหลายครั้ง และมีความไว้วางใจกันมานาน ลูกค้าเก่าจะใช้เวลาไม่นานในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการของเรา และแม้ว่าพนักงานขายจะทำสิ่งใดผิดพลาดไปบ้าง ลูกค้าที่ให้ความไว้วางใจแก่พนักงานขายในระดับสูง ก็จะยังคงเข้าใจและเชื่อใจ ดังนั้น ระดับความไว้วางใจที่สร้างขึ้นย่อมมีผลต่อระดับของความจงรักภักดีของลูกค้า

วิธีปฏิบัติในการสร้างความไว้วางใจ
          เช่นเดียวกันกับกรณีของพนักงานขาย ผู้นำองค์กรทุกคน ซึ่งมีบทบาทในการผลักดันและนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ สิ่งแรกที่ผู้นำต้องทำคือทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชา และเพื่อนร่วมงานยอมรับ มั่นใจและเชื่อถือในตัวท่าน รู้สึกไว้วางใจท่าน ยินดีที่จะให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ และกระทำการหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างให้เป็นไปตามความคาดหวังของท่าน วิธีปฏิบัติใน
การสร้างความไว้วางใจ มีดังต่อไปนี้
     1. พัฒนาความรู้ความสามารถในการทำงาน หรือเป็นผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน
แสดงผลงานที่ยอดเยี่ยมให้ผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา และเพื่อนร่วมงานเห็น พัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ มีความสามารถด้านใดด้านหนึ่งเฉพาะทาง และสามารถให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้อื่นได้เป็นประจำ
     2. ยึดหลักการสากลต่อไปนี้ในการบริหาร
ยึดหลักการสากล เช่น คุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์ ความเมตตา ความยุติธรรม ความเป็นกลาง ความกล้าหาญ ความอดทน ความมีวินัย ความมุ่งมั่น เป็นหลักสำคัญในการบริหาร
     3. ประพฤติตนเป็นแม่แบบที่ดี
หากท่านอยากให้ลูกน้องปฏิบัติตนเช่นไร ท่านก็ควรปฏิบัติตนเช่นนั้น เช่น หากท่านไม่ต้องการให้ลูกน้องมาสาย ท่านก็ไม่ควรมาสายเสียเอง การทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการจูงใจให้ลูกน้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
     4. ยอมรับข้อผิดพลาดของตน
คุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งของผู้นำคือ การมีความกล้าหาญที่จะยอมรับข้อผิดพลาดของตน ซึ่งการทำเช่นนี้ สามารถทำให้ลูกน้องรู้สึกเคารพท่านมากขึ้น ดีกว่าที่ท่านทำผิดแล้วแกล้งทำเป็นเพิกเฉย ลูกน้องย่อมรู้สึกหมดศรัทธาในตัวท่าน แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ ก็ตาม
     5. รักษาคำพูด รักษาสัญญา
จงอย่าได้ให้คำมั่นสัญญาหรือข้อผูกมัดใดๆ หากท่านไม่มั่นใจว่า ท่านจะสามารถทำตามสัญญาหรือข้อผูกมัดนั้นได้ ‘การกระทำย่อมสำคัญกว่าคำพูด’
     6. ให้เกียรติผู้อื่น
ให้เกียรติ เคารพและให้การสนับสนุนผู้อื่น ไม่ว่าคนๆนั้นจะมีตำแหน่งใดก็ตาม สอบถาม เปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้แสดงความคิดเห็น รับฟังปัญหาและให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสม
     7. ไม่พูดถึงบุคคลที่สามในทางที่ไม่ดีลับหลัง
หากบุคคลที่ท่านพูดถึงในทางที่ไม่ดี ทราบว่าท่านพูดถึงเขาอย่างไรลับหลัง บุคคลท่านนั้นย่อมไม่ไว้วางใจท่านอีกต่อไป และอาจบอกคนอื่นต่อว่าท่านเป็นคนที่ไม่น่าไว้ใจ หรือแม้แต่คนที่ท่านไปพูดนินทาด้วย ก็อาจระแวดระวังท่าน เพราะคิดว่าท่านอาจทำกับเขาเฉกเช่นเดียวกับที่ท่านทำกับคนอื่นก็ได้
     8. แก้ปัญหาสำคัญๆ ที่มีความท้าทายได้
เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหายากๆ ที่มีความท้าทาย ทั้งในระดับบุคคล ระดับหน่วยงาน และระดับองค์กร คิดริเริ่มสร้างสรรค์กระบวนการทำงาน หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาผลการปฏิบัติงานขององค์กร

          วิธีปฏิบัติเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความไว้วางใจในองค์กร   และการเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้อื่น ถือเป็นคุณสมบัติสำคัญสูงสุดประการหนึ่งในการเป็นผู้นำ ความไว้วางใจยังเป็นรากฐานของความสัมพันธ์อันดี เมื่อได้รับความไว้วางใจและมีความสัมพันธ์อันดี ย่อมส่งผลให้ท่านมีโอกาสประสบความสำเร็จในการใช้เหตุผลโน้มน้าว ให้ผู้อื่นสนับสนุนหรือกระทำการบางสิ่งบางอย่างตามความต้องการ การสร้างความไว้วางใจจึงเป็นรากฐานของความสำเร็จที่ยั่งยืนของผู้นำ


เทคนิคในการตลาด
1. เข้าใจในลูกค้าของคุณ
การทำความรู้จักกับลูกค้าของคุณเป็นเรื่องที่สำคัญทีสุดในขั้นตอนทางการตลาด การมีข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ และองค์ความรู้เกี่ยวกับ ลูกค้าที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้คุณขายของได้มากขึ้น ข้อมูล เหล่านี้จะเป็นเหมือน หางเสือที่คอยคัด ท้ายการตัดสินใจทางธุรกิจ ที่สำคัญของ คุณและช่วยให้คุณสามารถ เขียนแผนการตลาด ที่ดีได้

2. สังเกตุสิ่งแวดล้อมทางการตลาด

ความรู้เกี่ยวกับลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ แต่ โอกาสทางธุรกิจ หลายๆ ครั้งเกิดจาก การกระตุ้น จากการเปลี่ยนแปลงของ สถานการณ์ทั่วโลก เช่น ในสภาวะเศรษฐิกิจถดถอย พวก อาหารสำเร็จรูป หรือ เครืองอุปโภคต่างๆ ก็มีแนวโน้มที่จะเจริญเติบโตขึ้น เพราะ ผู้คนต่าง พยายามที่จะประหยัดรายจ่าย ของตัวเอง หรือ หากมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมา ก็อาจจะทำให้ ผลิตภัณท์ ใหม่ๆที่ เกี่ยวเนื่องกัน เกิดขึ้นมาตาม และ หากมีการออกกฏหมายใหม่ๆ ก็อาจ จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของ พฤติกรรมของผู้บริโภค ดั้งนั้น การ ติดตามข่าวสารต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ของนักการตลาด..

3. ออกแบบผลิตภัณท์ หรือ บริการ

เมื่อคุณมีการวางแผนทางการตลาดใน สถานที่หนึ่ง คุณต้องแน่ใจว่า ผลิตภัณท์ หรือบริการของคุณ ถูกปรับให้เหมาะสม กับ ลูกค้าของคุณ ตั้งแต่ รูปแบบของ บรรจุภัณท์ไปจนถึงวิธีการ โปรโมทสินค้ากันเลยทีเดยว ซึ่งผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่ จะติดกับดัก ของการ ทำผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาต้องการที่จะขาย มากกว่า การออกแบบและเสนอสิ่งที่ ลูกค้าต้องการให้ครอบคลุมลูกค้า

4. ทำให้แน่ใจว่า ทุกอย่างราบรื่น 

และมีประสิทธิภาพ กระบวนการของการดำเนินธุรกิจ ของ คุณเกือบจะเป็นสิ่งที่สำคัญเท่ากับ ตัวผลิตภัณฑ์ เลยทีเดียว ดังนั้น แล้วการจัดส่งที่รวดเร็ว การรับคืนที่สุภาพ พนักงานที่ทักทายด้วยรอยยิ้ม และ ถ้วยกาแฟ สร้างความประทับให้ลูกค้าอยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่สำคัญ คำพูดจากปากเป็นเครื่อง มือการขายที่มีประสิทธิภาพ

5. ออกแบบเป้าหมายการโฆษณาและ

การสื่อสารกับลูกค้าการวางโฆษณาเพียงไม่กี่จุดไม่เพียงพอ ต่อการสังเกตุเห็นของผู้บริโภค ซึ่งในแต่ วันกลุ่มผู้บริโภคจะได้รับข้อความทาง การตลาดผ่านเข้ามาในชีวิตเขามากมาย ทำให้โอกาสที่จะได้รับความสนใจจากพวกเขาน้อยลง คุณต้องการพื้นที่ ที่พิเศษและโดดเด่นจริงๆ และต้องมั่นใจใน ข้อความว่าชัดเจน และดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย เลือกใช้ทั้งความขัดแย้งทางอารมณ์ และ เหตุผล เพื่อแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่คุณต้องการจะขาย

6. ลงทุนในคนของคุณ

พนักงานของคุณเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ายิ่ง เฝ้ามองพวกเขา และให้พวกเขาได้ฝึกอบรม ในหน้าที่การงานที่พวกเขารับผิดชอบอยู่เสมอ ทำให้ พนักงานต้อนรับ กลายเป็นพนักงานขาย ดูให้แน่ใจว่าพวกเขามีแรงจูงใจ มีเครื่องมือ ที่พวกเขาต้องการ และ เข้าใจในบทบาทของตัวเอง ในแผนธุรกิจขององค์กร ถ้าทุกๆคนทำงานร่วมกัน ธุรกิจของคุณก็จะดูแลตัวมันเอง


7. ทำให้หน้าร้านดูสะอาด เป็นระเบียบ

การนำเสนอที่ดีเป็นเครื่องมือที่มี อิทธิพลอย่างมาก มันจะสร้างความไว้วางใจ คุณควรจะกระตุ้น พนักงาน และทำให้ลูกค้ารู้สึกสบายๆ กับการตัดสินใจ ของพวกเขา ถ้า หน้าร้านคุณยุ่งเหยิง ก็ไม่ต้องพูดถึง คลังสินค้า หรือ ระบบการจัดเก็บข้อมูลของคุณแม้ว่าเบื้องหลังคุณจะอลหม่านแค่ไหน ก็ตามแต่อย่าทำให้มาตราฐานของพื้นที่ ที่ลูกค้าคุณจะเข้ามาพบนั้นต่ำลงเป็นอันขาด..

8. มีกลยุทธทางด้านราคา

ในเรื่องของการกำหนดราคาผลิตภัณฑ์ หรือบริการนั้นอย่ากระทำเพียงแค่ ใช้ต้นทุน + %กำไรที่ต้องการการกำหนดราคาเป็นเครื่องมือ ที่มีประสิทธิภาพในการบรรลุเป้าหมายของคุณ ราคาจะเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนด ดที่อยู่ของตัวผลิตภัณฑ์ แน่นอนว่า การกำหนดราคาที่สูง จะทำให้คุณขายได้น้อย แต่ มันสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ เป็นผลิตภัฑ์ระดับพรีเมียม ราคาขายที่ต่ำ อาจจะทำให้มียอดขายที่ เพิ่มขึ้น แต่ นั่นหมายถึง การทำกำไรที่ต่ำ และระยะสั้น 

9. ตอบสนองต่อข้อร้องเรียน

ทุกๆเรื่องร้องเรียน มีโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนเป็นความไม่พอใจอย่างรุนแรงได้ ดังนั้นการตอบสนองที่รวดเร็วและเป็นบวก จึงจำเป็นอย่างยิ่งจำไว้ให้ดีว่า ตราสินค้าของคุณนั้น ถูกทำลายลงได้ง่ายดายเสียเหลือเกิน และสิ่งสุดท้ายที่คุณต้องการคือการที่ผู้คน ต่างแพร่กระจายข่าอว เกี่ยวกับ เรื่องแย่ๆ ของผลิตภัณฑ์ ของคุณดังนั้นการตอบสนองต่อข้อร้องเรียนที่ดี จะทำให้คุณได้รับ ลูกค้าที่จงรักภักดีต่อผลิตภัณฑ์ และ มีความเชื่อมั่นในการที่จะกลับมาซื้ออีกครั้ง ถ้าสิ่งที่พวกเขาไม่ประทับใจได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว

10. เขียนแผนงานทางการตลาด

พัฒนากลยุทธ์ ของคุณในรูปแบบที่เป็นลายลักษณ์อักษร จะช่วยให้ ทีมงานของคุณ เข้าใจทิศทางของบริษัทเอกสารแผนงานที่ครอบคลุมและ ผ่านการวิจัยที่ดีในทุกด้านสำคัญกับผลิตภัณฑ์ ของคุณดังนั้นเมื่อต้องการทำแผนทางการตลาด ให้ นึกถึง
10.1 ที่เราเป็นอยู่ตอนนี้
10.2 เราต้องที่จะ
10.3 โอกาสที่มีอยู่ในสภาพแวดล้อม
10.4 ใครจะเป็นผู้ดำเนินการ
10.5 วิธีการที่เราจะรู้ได้ว่าเราได้มาถึงเป้าหมาย

การจูงใจในการทำงาน
           การทำงานธุรกิจหรืองานอุตสาหกรรมเป็นงานที่จะต้องคำนึงถึงผลได้ผลเสีย กำไรขาดทุน ทั้งการดำเนินงานยังเต็มไปด้วยการแข่งขันในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะด้านคุณภาพของสินค้าและบริการ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การตลาด รวมไปถึงการควบคุมต้นทุนการผลิต และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ปัญหาที่ต้องประสบกันมาทุกยุคทุสมัย คือการทำงานของคนในองค์การ ซึ่งจัดเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าขององค์การ ทำอย่างไรจะให้ทรัพยากรบุคคลเหล่านั้นทำงานเต็มที่ เต็มความสามารถเพื่อให้ได้งานที่มีคุณภาพดีที่สุด และด้วยปริมาณมากที่สุด ผู้บริหารหลายคนอาจคิดถึงกลยุทธ์การให้รางวัลและการลงโทษ ผู้บริหารบางคนคิดถึงหลักเมตตาธรรมให้อยู่กันด้วยความรักความเข้าใจแล้วพลังการทำงานก็จะตามมา และมีผู้บริหารอีกส่วนหนึ่งที่คิดถึงคำกล่าวว่า “ชาดดีไม่ต้องทาสีแดง” คือคนดีไม่ว่าอย่างไรก็ทำงานดีสม่ำเสมอ เพราะมีสิ่งผลักดันในการทำงานที่มาจากภายในตัวของบุคคลผู้นั้นเอง แต่สำหรับบางคนที่คิดรวยทางลัด หลอกคนมากักขังหน่วงเหนี่ยวใช้กำลังบังคับให้ทำงาน วิธีนั้นน่าจะได้ชื่อว่ามิได้ใช้กลยุทธ์เชิงจิตวิทยาแต่อย่างใดในการเสริมสร้างคนให้ทำงาน ทั้งยังเป็นการผิดศิลธรรม และผิดกฎหมายอีกด้วย
           การเสริมสร้างให้คำทำงานได้เป็นอย่างดีนั้น นอกจากเพื่อให้เกิดพฤติกรรมการทำงานที่มุ่งเพิ่มปริมาณและคุณภาพแล้ว ยังเน้นบรรยากาศที่ผู้ปฏิบัติมีความสุขความพอใจและเต็มใจลงทุนลงแรง เพื่อให้ผลงานบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ การทำงานในลักษณะดังกล่าวคือการจูงใจในการทำงาน (work motivation) ซึ่งผู้ทำงานธุรกิจควรให้ความสำคัญและสนใจศึกษาเพื่อพัฒนางานให้เจริญก้าวหน้า ในที่นี้จะกล่าวถึงความหมายของการจูงใจ ความเป็นมาและความสำคัญของการจูงใจในการทำงาน ลักษณะและที่มาของแรงจูงใจ ทฤษฎีและการศึกษาเรื่องการจูงใจ และการประยุกต์ความรู้เรื่องการจูงใจไปใช้ในงานธุรกิจ
5.1 ความหมายของการจูงใจ
           ได้มีผู้ให้ความหมายของการจูงใจ ไว้มาก ในที่นี้จะยกตัวอย่าง 2-3 ความหมาย ดังนี้
           ไมเคิล ดอมแจน (Domjan 1996:199) อธิบายว่าการจูงใจเป็นภาวะในการเพิ่มพฤติกรรมการกระทำหรือกิจกรรมของบุคคล โดยบุคคลจงใจกระทำพฤติกรรมนั้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
          แอนนิต้า อี วูลฟอล์ค (Anita E.Woolfolk 1995 : 130) ได้ให้ความหมายของการจูงใจว่า การจูงใจเป็นภาวะภายในของบุคคลที่ถูกกระตุ้นให้กระทำพฤติกรรมอย่างมีทิศทางและต่อเนื่อง
           นิภา แก้วศรีงาม กล่าวว่า การจูงใจเป็นสภาวะที่กระตุ้นให้บุคคลแสดงพฤติกรรมออกมา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่ผู้จูงใจกำหนด
           จากคำอธิบายและความหมายดังกล่าว สรุปได้ว่าการจูงใจเป็นกระบวนการที่บุคคลถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้า โดยจงใจให้กระทำหรือดิ้นรนเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์บางอย่างซึ่งจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมที่เกิดจากการจูงใจ เป็นพฤติกรรมที่มิใช่เป็นเพียงการตอบสนองสิ่งเราปกติธรรมดา ลักษณะของการตอบสนองสิ่งเร้าปกติธรรมดาเช่น การขานรับเมื่อได้ยินเสียงเรียก การหันไปมองเมื่อมีคนเดินผ่านหน้า การยกหูโทรศัพท์เมื่อมีกริ่งดังขึ้น ตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นการตอบสนองสิ่งเร้าที่ยังไม่จัดว่าเป็นการจูงใจ ที่จะจัดว่าเป็นพฤติกรรมที่เกิดจาการจูงใจ เช่น การที่เจ้าหน้าที่บัญชีพยายามทำบัญชีให้เรียบร้อยเพื่อต้องการคำชมจากหัวหน้างาน การที่พนักงานขายตั้งใจมาทำงานสม่ำเสมอไม่ขาดงานและตั้งใจทำยอดขายเพราะหวังจะได้รับความดีความชอบเป็นกรณีพิเศษ การที่ผู้จัดการฝ่าบุคคลตั้งใจทำงานชิ้นหนึ่งเป็นอย่างดี เพราะตระหนักในศักดิ์ศรีของตัวเอง ฯลฯ ตัวอย่าง 3 ประการนี้ จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมมีความเข้มข้น มีทิศทาง มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการไปสู่จุดใด จึงมิใช่พฤติกรรมทั่วๆ ไป ที่เกิดจากการตอบสนองสิ่งเร้าธรรมดา นอกจากนั้น พฤติกรรมการจูงใจที่เกิดขึ้น ยังเป็นผลเนื่องมาจากแรงผลักดัน หรือแรงกระตุ้นที่เรียกว่า แรงจูงใจ ซึ่งจะได้กล่าวโดยละเอียดต่อไป
5.2 ความเป็นมาและความสำคัญของการจูงใจในการทำงาน
      5.2.1 ความเป็นมาของการจูงใจในการทำงาน
           การใช้กลยุทธ์เพื่อกระตุ้นการปฏิบัติงานของผู้ร่วมงานให้ไปสู่เป้าหมายที่ต้องการนั้นมิใช่ของใหม่ที่เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ในสมัยโบราณก็มีการใช้วิธีการดังกล่าวทั้งกับมนุษย์ด้วยกันและกับสัตว์ที่จัดเป็น ผู้ร่วมงาน ด้วยเช่นกัน กลยุทธ์ที่นำมาใช้บางประการเป็นไปโดยทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความพอใจ สมัครใจที่จะทำ กลยุทธ์บางประการแม้จะได้ผลในการสร้างแรงกระตุ้นให้ทำงานได้มากขึ้น แต่ผู้ปฏิบัติอาจมีเจตคติทางลบต่อผู้บริหาร เพราะถูกเอารัดเอาเปรียบเกินไป หรือบุคคลภายนอกอาจมองโดยไม่ยอมรับนัก เพราะเอารัดเอาเปรียบกัน
      5.2.2 ความสำคัญของการจูงใจในการทำงาน
           การทำความเข้าใจเรื่องความสำคัญของการจูงใจในการทำงานอาจโดยตั้งปัญหาถาม-ตอบ เกี่ยวกับพฤติกรรมของคนบางคนที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างรายการปัญหา เช่น เพราะอะไรนักวิทยาศาสตร์บางคนจึงใช้เวลามากมายเหลือเกินอยู่ในห้องทดลองบางคนใช้เวลาส่วนใหญ่เกือบตลอดชีวิตของเขาทีเดียวเพื่อการทดลองนั้นๆ เพราะอะไรนักกีฬาบางคนจึงสู้ทนเหนื่อยยากกับการฝึกซ้อมซ้ำๆ ซากๆ เป็นเวลาแรมเดือน แรมปี ก่อนเข้าแข่งขันกีฬานัดสำคัญ เพราะอะไรคนบางคนจึงยอมอดทน เสียสละ ทำงานหนัก และใช้พลังทั้งหมดในตัวตลอดชีวิตของเขา เพื่อการค้นพบโลกอนาคตในบางลักษณะที่ยังไม่มีใครพบได้มาก่อน ในขณะที่คนบางคนทำในลักษณะเดียวกัน แต่เพื่อการค้นหาร่องรอยอดีตของโลกดึกดำบรรพ์ไม่สนใจใฝ่รู้ในโลกอนาคต เป็นต้น
           จากตัวอย่างปัญหาที่ยกมานี้ คำตอบต่อปัญหาดังกล่าวคือ เพราะพฤติกรรมเหล่านั้นมีสิ่งผลักดันหรือมีแรงจูงใจให้เกิดขึ้น คือ เป็นพฤติกรรมที่มีการจูงใจ พฤติกรรมที่เกิดจากการจูงใจจะเป็นพฤติกรรมที่มีความเข้มข้น จริงจัง ลงทุนลงแรง กระทำในสิ่งนั้นเพื่อให้ผลงานหรือผลการกระทำ บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
           กล่าวสรุปเป็นข้อๆ ถึงความสำคัญของการจูงใจในการทำงานได้ดังนี้
           5.2.1.1 การจูงใจช่วยเพิ่มพลังในการทำงานให้บุคคล
           พลัง (energy) เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการกระทำหรือพฤติกรรมของมนุษย์ ในการทำงานใดๆ ถ้าบุคคลมีแรงจูงใจในการทำงานสูง ย่อมทำให้ขยันขันแข็ง กระตือรือร้น กระทำให้สำเร็จ ซึ่งตรงกันข้ามกับบุคคลที่ทำงานประเภท “เช้าชาม เย็นชาม” ที่ทำงานเพียงเพื่อให้ผ่านไปวันๆ
           5.2.1.2 การจูงใจช่วยเพิ่มความพยายามในการทำงานให้บุคคล
           ความพยายาม (persistence) ทำให้บุคคลมีความมานะ อดทน บากบั่น คิดหาวิธีการนำความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของตนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่องานให้มากที่สุด ไม่ท้อถอยหรือละความพยายามง่ายๆ แม้งานจะมีอุปสรรคขัดขวาง และเมื่องานได้รับผลสำเร็จด้วยดีก็มักคิดหาวิธีการปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
           5.2.1.3 การจูงใจช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของบุคคล
           การเปลี่ยนแปลง (variability) รูปแบบการทำงานหรือวิธีทำงานในบางครั้ง ก่อให้เกิการค้นพบช่องทางดำเนินงานที่ดีกว่าหรือประสบผลสำเร็จมากกว่า นักจิตวิทยาบางคนเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเครื่องหมายของความเจริญก้าวหน้าของบุคคล แสดงให้เห็นว่าบุคคลกำลังแสวงหาการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ให้ชีวิต บุคคลที่มีแรงจูงใจในการทำงานสูง เมื่อดิ้นรนเพื่อจะบรรลุวัตถุประสงค์ใดๆ หากไม่สำเร็จบุคคลก็มักพยายามค้นหาสิ่งผิดพลาดแลยพยายามแก้ไขให้ดีขึ้นในทุกวิถีทาง ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานจนในที่สุดทำให้ค้นพบแนวทางที่เหมาะสมซึ่งอาจจะต่างไปจากแนวเดิม
           5.2.1.4 การจูงใจในการทำงานช่วยเสริมสร้างคุณค่าของความเป็นคนที่สมบูรณ์ให้บุคคล
           บุคคลที่มีแรงจูงใจในการทำงาน จะเป็นบุคคลที่มุ่งมั่นทำงานให้เกิดความเจริญก้าวหน้า และการมุ่งมั่นทำงานที่ตนรับผิดชอบให้เจริญก้าวหน้า จัดว่าบุคคลผู้นั้นมีจรรยาบรรณในการทำงาน (work ethics) ผู้มีจรรยาบรรณในการทำงานจะเป็นบุคคลที่มีความรับผิดชอบ มั่นคงในหน้าที่ มีวินัยในการทำงาน ซึ่งลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ ผู้มีลักษณะดังกล่าวนี้มักไม่มีเวลาเหลือพอที่จะคิดและทำในสิ่งที่ไม่ดี
           จากที่กล่าวมาทั้ง 4 ประการ จะเห็นได้ว่า องค์การใดที่มีทรัพยากรบุคคลซึ่งมีแรงจูงใจในการทำงานสูง ย่อมส่งผลให้องค์การนั้นๆ บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ เจริญก้าวหน้า เพราะพนักงานดังกล่าวจะทุ่มเทพลังงานและความสามารถอย่างเต็มที่และโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อให้ผลงานสำเร็จตามนโยบายและเป้าหมายของงาน นอกจากนั้นยังมีบุคคลอีกส่วนหนึ่งซึ่งเชื่อว่าการสร้างแรงจูงใจให้บุคคลมุ่งมั่นทำงานให้เจริญก้าวหน้า ยังช่วยเสริมสร้างความเป็นคนที่สมบูรณ์ให้แก่ผู้นั้น ช่วยให้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย และช่วยสร้างคนให้ดีได้เพราะการทำงานเป็นหัวใจสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ทำให้ชีวิตมีคุณค่า
5.3 ลักษณะและที่มาของแรงจูงใจ
           แรงจูงใจ (motives) เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการจูงใจ จากตัวอย่างพฤติกรรมการจูงใจในการทำงานที่ได้กล่าวไว้ในหัวข้อที่ว่าด้วยความหมายของการจูงใจ ในเรื่องพฤติกรรมการทำงานของเจ้าหน้าที่บัญชี พนักงานขาย และผู้จัดการฝ่ายบุคคล จากตัวอย่างดังกล่าวซึ่งแสดงให้เห็นว่าความต้องการคำชมทำให้เจ้าหน้าที่บัญชีตั้งใจทำบัญชีให้เรียบร้อย ความหวังที่จะได้รับความดีความชอบพิเศษ ทำให้พนักงานขายมาทำงานสม่ำเสมอและตั้งใจทำยอดขายความรักศักดิ์ศรีในตัวเองของผู้จัดการฝ่ายบุคคล ทำให้ตั้งใจทำงานเป็นอย่างดี จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการจูงใจมิใช่อยู่ๆ จะเกิดขึ้นมาเอง ต้องมีสิ่งจูงใจ สิ่งที่มาจูงใจนั้นเรียกว่า “แรงจูงใจ” ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นหรือแรงผลักดันใก้บุคคลแสดงพฤติกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายปลายทาง
           มีแนวคิดและคำอธิบายมากมายที่กล่าวถึงลักษณะและที่มาของแรงจูงใจ แนวคิดและคำอธิบายดังกล่าวแม้จะพูดถึงสิ่งเดียวกันแต่มีจุดเน้นที่ต่างกันไป ในที่นี้จะกล่าวถึงลักษณะและที่มาของแรงจูงใจที่น่าจะเป็นประโยชน์และเข้าใจง่ายสำหรับผู้ศึกษาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและจิตวิทยาการทำงาน ดังต่อไปนี้
      5.3.1 ลักษณะของแรงจูงใจ
           แรงจูงใจมี 2 ลักษณะ ดังนี้
           5.3.1.1 แรงจูงใจภายใน (intrinsic motives)
           แรงจูงใจภายในเป็นสิ่งผลักดันจากภายในตัวบุคคล ซึ่งอาจจะเป็นเจตคติ ความคิดเห็น ความสนใจ ความตั้งใจ การมองเห็นคุณค่า ความพอใจ ความต้องการ ฯลฯ สิ่งต่างๆ ดังกล่าวมาเหล่านี้มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมค่อนข้างถาวร เช่น คนงานที่เห็นคุณค่าของงาน มองว่าองค์การคือสถานที่ให้ชีวิตแก่เขาและครอบครัว เขาก็จะจงรักภักดีต่อองค์การ กระทำการต่างๆ ให้องค์การเจริญก้าวหน้า หรือในกรณีที่บ้านเมืองประสบปัญหาเศรษฐกิจ ในช่วงเวลาของเศรษฐกิจขาลง องค์การจำนวนมากอยู่ในภาวะขาดทุน ไม่มีเงินจ่ายค่าตอบแทน แต่ด้วยความผูกพัน เห็นใจกันและกัน ทั้งเจ้าของกิจการและพนักงานต่างร่วมกันค้าขายอาหารเล็กๆ น้อยๆ ทั้งประเภทแซนวิช ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ เพียงเพื่อให้มีรายได้ประทังกันไปทั้งผู้บริหารและลูกน้อง และในภาวะดังกล่าวนี้จะเห็นว่าพนักงานหลายรายที่ไม่ทิ้งเจ้านาย ทั้งเต็มใจไปทำงานวันหยุดโดยไม่มีค่าตอบแทน ถ้าการกระทำดังกล่าวเป็นไปโดย เนื่องจากความรู้สึก หรือเจตคติที่ดีต่อเจ้าของกิจการ หรือด้วยความรับผิดชอบในฐานะสมาชิกคนหนึ่งขององค์การ มิใช่เพราะเกรงจะถูกไล่ออกหรือไม่มีที่ไป ก็กล่าวได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากแรงจูงใจภายใน
           5.3.1.2 แรงจูงใจภายนอก (extrinsic motives)
           แรงจูงใจภายนอกเป็นสิ่งผลักดันภายนอกตัวบุคคลที่มากระตุ้นให้เกิดพฤติกรรม อาจจะเป็นการได้รับรางวัล เกียรติยศชื่อเสียง คำชม การได้รับการยอมรับยกย่อง ฯลฯ แรงจูงใจนี้ไม่คงทนถาวรต่อพฤติกรรม บุคคลจะแสดงพฤติกรรมเพื่อตอบสนองสิ่งจูงใจดังกล่าวเฉพาะในกรณีที่ต้องการรางวัล ต้องการเกียรติ ชื่อเสียง คำชม การยกย่อง การได้รับการยอมรับ ฯลฯ ตัวอย่างแรงจูงใจภายนอกที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรม เช่น การที่คนงานทำงานเพียงเพื่อแลกกับค่าตอบแทนหรือเงินเดือน การแสดงความขยันตั้งใจทำงานเพียงเพื่อให้หัวหน้างานมองเห็นแล้วได้ความดีความชอบ เป็นต้น
      5.3.2 ที่มาของแรงจูงใจ
           แรงจูงใจมีที่มาจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น อาจจะเนื่องมาจากความต้องการ หรือแรงขับ หรือสิ่งเร้าใจ หรือภาวะการตื่นตัวในบุคคล หรืออาจจะเนื่องมาจากการคาดหวัง หรือบางครั้งบางคราวก็อาจเป็นแรงจูงใจไร้สำนึก คือ เนื่องมาจากการเก็บกดซึ่งบางทีเจ้าตัวก็ไม่รู้ตัว จะเห็นได้ว่าการจูงใจให้เกิดพฤติกรรมในคนเรานั้นไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอน เนื่องจากพฤติกรรมของมนุษย์มีความซับซ้อน แรงจูงใจอย่างเดียวกันอาจทำให้เกิดพฤติกรรมต่างกัน แรงจูงใจต่างกันอาจทำให้เกิดพฤติกรรมเหมือนกัน พฤติกรรมอย่างหนึ่งอาจเกิดจากแรงจูงใจหลายอย่าง และในบุคคลต่างสังคม ก็มักมีแรงจูงใจต่างกัน เนื่องจากสังคมที่ต่างกัน มักทำให้เกิดแรงจูงใจต่างกัน
           ในที่นี้จะกล่าวถึงที่มาของแรงจูงใจแต่ละอย่างโดยสังเขปเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงาน ซึ่งมีที่มาของแรงจูงใจบางอย่างนั้นจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ไม่สามารถแยกจากกันโดยเด็ดขาดได้
           5.3.2.1 ความต้องการ
           ความต้องการ (needs) เป็นสภาพที่บุคคลขาดสมดุล เกิดแรงผลักดันให้บุคคลแสดงพฤติกรรมเพื่อสร้างสมดุลให้ตัวเอง เช่น คนที่รู้สึกเหนื่อยล้าโดยการนอน หรือนั่งพัก หรือเปลี่ยนบรรยากาศ เปลี่ยนอิริยาบถ ดูหนังฟังเพลง คนที่ถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว เกิดความต้องการความรักความสนใจจากผู้อื่น เป็นแรงผลักดันให้คนๆ นั้น กระทำหารบางอย่างเพื่อให้ได้รับความรักความสนใจ ความต้องการมีอิทธิพลมากต่อพฤติกรรม กล่าวได้ว่าสิ่งที่กระตุ้นให้บุคคลแสดงพฤติกรรมเพื่อบรรลุจุดหมายปลายทางที่ต้องการนั้น ส่วนใหญ่เกิดเนื่องมาจากความต้องการของบุคคล ความต้องการในคนเรามีหลายประเภท นักจิตวิทยาแต่ละท่านจะอธิบายเรื่องความต้องการในรูปแบบต่างๆ กัน แต่โดยทั่วไปแล้ว เราอาจแบ่งความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
                1. ความต้องการทางกาย (physical needs) เป็นความต้องการที่เกิดจากธรรมชาติของร่างกาย เช่น ต้องการกินอาหาร หายใจ ขับถ่ายของเสีย การเคลื่อนไหว พักผ่อน และต้องการทางเพศ ความต้องการทางกายทำให้เกิดแรงจูงใจให้บุคคลกระทำการเพื่อสนองความต้องการดังกล่าว เรียกแรงจูงใจที่เกิดจากความต้องการทางกายนี้ว่า แรงจูงใจทางชีวะภาพ หรือทางสรีระ (biological motives)
                 2. ความต้องการทางสังคมหรือความต้องการทางจิตใจ (social or psychological needs) เป็นความต้องการที่เกิดจากการเรียนรู้ทางสังคม เช่น ต้องการความรัก ความมั่นคง ปลอดภัย การเป็นที่ยอมรับในสังคม ต้องการอิสระภาพ ความสำเร็จในชีวิต และตำแหน่งทางสังคม ความต้องการทางสังคมหรือทางจิตใจดังกล่าวนี้ เป็นเหตุให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมเพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการดังกล่าวคือ ทำให้เกิดแรงจูงใจที่เรียกว่าแรงจูงใจทางสังคม (social motives)
           5.3.2.2 แรงขับ
           แรงขับ (drives) เป็นแรงผลักดันที่เกิดจากความต้องการทางกาย และสิ่งเร้าจากภายในตัวบุคคล ความต้องการ และแรงขับมักเกิดควบคู่กัน คือ เมื่อเกิดความต้องการแล้วความต้องการนั้นๆ ไป ผลักดันให้เกิดพฤติกรรม เราเรียกว่า เป็นแรงขับนอกจากนั้นแรงขับยังหมายถึงสภาพทางจิตวิทยาที่เป็นผลเนื่องมาจากความต้องการทางกาย เช่น ความหิวทำให้เกิดสภาพทางจิตวิทยาคือ ใจสั่น ตาลอย หงุดหงิด อารมณ์เสีย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในหน่วยงาน เช่น การเร่งร้อนหาข้อสรุปจากการประชุมในบรรยากาศที่ผู้เข้าประชุมทั้งหิว ทั้งเหนื่อย แทนที่จะได้ข้อสรุปที่ดี บางครั้งกลับก่อให้เกิดปัญหาขัดแย้ง ไม่ได้รับผลสำเร็จตามที่ต้องการ หรือเพราะด้วยความหิว ความเหนื่อย ทำให้รีบสรุปและตกลงเรื่องงานโดยขาดการไตร่ตรอง เพื่อจะได้รับประทานอาหารและพักผ่อน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียต่องานได้ แต่ในบางกรณี บุคคลบางคนก็อาจฉวยโอกาสของการที่คนในที่ประชุมอยู่ในภาวะมีแรงขับด้านความหิว ความเหนื่อย มาเป็นประโยชน์ให้ลงมติบางเรื่องโดยง่ายและรวดเร็ว เพื่อประโยชน์ต่องาน
           5.3.2.3 สิ่งล่อใจ
           สิ่งล่อใจ (incentives) เป็นสิ่งชักนำบุคคลให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งไปสู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ จัดเป็นแรงจูงใจภายนอก เช่น การชักจูงให้คนงานมาทำงานอย่างสม่ำเสมอ โดยยกย่องพนักงานที่ไม่ขาดงานให้เป็นที่ปรากฏ การประกาศเกียรติคุณ หรือการจัดสรรรางวัลในการคัดเลือกพนักงานหรือบุคคลดีเด่นประจำปี การจัดทำเนียบ “Top Ten” หรือสิสาขาดีเด่นขององค์การ การมอบโล่รางวัลแก่ฝ่ายงานที่มีผลงานยอดเยี่ยมในรอบปี ฯลฯ ตัวอย่างที่ยกมาเหล่านี้ จัดเป็นการใช้สิ่งล่อใจมาสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้เกิดแก่พนักงานขององค์การทั้งสิ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าสิ่งล่อใจนั้นอาจเป็นวัตถุ เป็นสัญลักษณ์ หรือเป็นคำพูดที่ทำให้บุคคลพึงพอใจ
           5.3.2.4 การตื่นตัว
           การตื่นตัว (arousal) เป็นภาวะที่บุคคลพร้อมที่จะแสดงพฤติกรรม สมองพร้อมที่จะคิด กล้ามเนื้อพร้อมที่จะเคลื่อนไหว นักกีฬาที่อุ่นเครื่องเสร็จพร้อมที่จะแข่งขันหรือเล่นกีฬา พนักงานต้อนรับที่พร้อมให้บริการแก่ลูกค้า ฯลฯ ลักษณะดังกล่าวนี้เปรียบเหมือนเครื่องยนต์ที่ติดเครื่องพร้อมจะทำงาน บุคลากรในองค์การถ้ามีการตื่นตัวในการทำงาน ย่อมส่งผลให้ทำงานได้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาธรรมชาติ พฤติกรรมของมนุษย์พบว่า การตื่นตัวมี 3 ระดับ คือ การตื่นตัวระดับสูง การตื่นตัวระดับกลาง และการตื่นตัวระดับต่ำ ระดับที่นักจิตวิทยาค้นพบว่าดีที่สุดได้แก่การตื่นตัวระดับกลาง ถ้าเป็นการตื่นตัวระดับสูง จะตื่นตัวมากไปจนกลายเป็นตื่นตกใจ หรือตื่นเต้น ขาดสมาธิในการทำงาน ถ้าตื่นตัวระดับต่ำก็มักทำงานทำงานเฉื่อยชา ผลงานเสร็จช้า และจากการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่ทำให้บุคคลตื่นตัว มีทั้งสิ่งเร้าภายนอกและสิ่งเร้าภายในตัวได้แก่ ลักษณะส่วนตัวของบุคคลแต่ละคนที่มีต่างๆ กัน ทั้งในส่วนที่เป็นบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย และระบบสรีระภายในของผู้นั้น
           นักจิตวิทยาที่ทำการศึกษาเรื่องการตื่นตัวในเชิงสรีระที่มีชื่อเสียงได้แก่ เฮบบ์ (Donald O.Hebb) ซึ่งเขได้ทำการศึกษาไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1955 และค้นคว้าเพิ่มเติมติดต่อกันเรื่อยมา ผลงานล่าสุดเท่าที่ค้นคว้าได้มีถึง ค.ศ.1972 เขากล่าวว่าการตื่นตัวกับอารมณ์ของมนุษย์มีความสัมพันธ์กัน และในขณะตื่นตัวการทำงานทางสรีระของมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลง เช่น การเต้นของหัวใจจะแรงขึ้น กล้ามเนื้อจะเกร็ง ระบบประสาทอัตโนมัติอยู่ในภาวะพร้อมจะทำงานเต็มที่ ซึ่งนักจิตวิทยามักเรียกภาวะพร้อมของคนดังกล่าวนี้ว่า “ปฏิกิริยาพร้อมสู้ และพร้อมหนี” ซึ่งคำกล่าวนี้ เป็นการเปรียบเทียบอาการตื่นตัวของหมีป่า ถ้ามันจนมุมมันก็พร้อมสู้กับศัตรู ดังคำกล่าวที่ว่า “สุนัขจนตรอก” แต่ถ้ามันมองเห็นช่องทางหนีมันก็จะหลบเร้นออกจากการต่อสู้นั้น คือพร้อมที่จะทำได้ทุกรูปแบบ
           5.3.2.5 การคาดหวัง
           การคาดหวัง (expectancy) เป็นการตั้งความปรารถนาหรือการพยากรณ์ล่วงหน้าของบุคคลในสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปตัวอย่างเช่น การที่คนงานคาดหวังว่าพวกเขาจะได้รับโบนัสประจำปีสัก 4-5 เท่าของเงินเดือน การคาดหวังดังกล่าวนี้ส่งผลให้พนักงานดังกล่าวกระปรี้กระเปล่า มีชีวิตชีวา ซึ่งบางคนก็อาจจะสมหวัง และมีอีหลายคนที่ผิดหวังในชีวิตจริงของคนเราโดยทั่วไป สิ่งที่คาดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นมักไม่ตรงกันเสมอไป ช่วงห่างระหว่างสิ่งที่คาดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ถ้าห่างกันมากก็อาจทำให้คนงานคับข้องใจ และเกิดปัญหาขัดแย้งอื่นๆ ตามมา เจ้าของกิจการหรือผู้บริหารงานจึงควรระวังในเรื่องดังกล่าวที่จะต้องมีการสื่อสาร สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในกันและกัน การสร้างความหวังหรือการปล่อยให้พนักงานคาดหวังลมๆ แล้งๆ โดยที่สภาพความเป็นจริงทำไม่ได้ อาจจะก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากที่คาดไม่ถึงในเวลาต่อไป ดังตัวอย่างที่เห็นได้จากการที่กลุ่มคนงานของบริษัทใหญ่บางแห่งรวมตัวกันต่อต้านผู้บริหารและเผาโรงงานเนื่องมาจากไม่พอใจที่ไม่ได้โบนัสประจำปีตามที่คาดหวังไว้ว่าควรจะได้
           การคาดหวังก่อให้เกิดแรงผลักดันหรือเป็นแรงจูงใจที่สำคัญต่อพฤติกรรมอีกส่วนหนึ่ง ในองค์การถ้าได้มีการกระตุ้นให้พนักงานทำงานโดยวางแผนและเป้าหมาย ตั้งระดับของผลงานตามที่ควรจะเป็น อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยยกระดับมาตราฐานของผลงานของพนักงาน ซึ่งเมื่อได้ผลงานดีขึ้นผู้บริหารก็พิจารณาผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่พนักงานคาดว่าควรจะได้ เช่นนี้นับว่าได้รับประโยชน์พร้อมกันทั้งฝ่ายเจ้าของกิจการและผู้ปฏิบัติงาน
           5.3.2.6 การตั้งเป้าหมาย
           การตั้งเป้าหมาย (goal settings) เป็นการกำหนดทิศทางและจุดมุ่งหมายปลายทางของการกระทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งของบุคคล จัดเป็นแรงจูงใจจากภายในของบุคคลผู้นั้น ในการทำงานธุรกิจที่มุ่งเพิ่มปริมาณและคุณภาพ ถ้าพนักงานหรือนักธุรกิจมีการตั้งเป้าหมายในการทำงาน จะส่งผลให้ทำงานอย่างมีแผนและดำเนินไปสู่เป้าหมายดังกล่าวเสมือนเรือที่มีหางเสือ ซึ่งในชีวิตประจำวันของคนเรานั้นจะเห็นว่ามีคนบางคนที่ทำอะไรก็มักประสบความสำเร็จหรือไม่สำเร็จดังกล่าวอาจจะมีหลายประการ แต่ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลมากต่อความสำเร็จในการทำงาน คือการตั้งเป้าหมายในการทำงานแต่ละงานไว้ล่วงหน้า ซึ่งเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารงาน ควรสนับสนุนให้พนักงานทำงานอย่างมีเป้าหมาย ทั้งนี้เพื่อความเจริญก้าวหน้าขององค์การ และตัวของพนักงานเอง
           ที่กล่าวมาทั้งหมดในเรื่องที่มาของแรงจูงใจ ซึ่งได้แก่ ความต้องการ แรงขับ สิ่งล่อใจ การตื่นตัว การคาดหวัง และการตั้งเป้าหมาย จะเห็นได้ว่าค่อนข้างยากที่จะกล่าวอธิบายแต่ละเรื่องแยกจากกันโดยเอกเทศ ทั้งนี้เนื่องจากแต่ละเรื่องมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ตัวอย่างเช่น ความต้องการทำให้เกิดภาวะขาดสมดุลภายในร่างกายหรือจิตใจ มนุษย์อยู่ในภาวะขาดสมดุลไม่ได้ ต้องหาทางสนองความต้องการเพื่อให้เข้าสู่ภาวะสมดุล ส่งผลให้เกิดแรงขับหรือแรงผลักดันพฤติกรรม ทำให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมอย่างมีทิศทาง มุ่งไปสู่เป้าหมาย เมื่อบรรลุเป้าหมายแล้ว แรงผลักดันพฤติกรรมก็ลดลง ภาวะสมดุลก็กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง จากคำอธิบายดังนี้จะเห็นได้ว่าที่มาของแรงจูงใจหลายเรื่องมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน
5.4 ทฤษฎีและการศึกษาเรื่องการจูงใจ
           มีทฤษฎีและการศึกษาเรื่องการจูงใจเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งทฤษฎีและการศึกษาที่ว่าด้วยการจูงใจโดยตรง และทฤษฎีและการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการจูงใจ ในที่นี้จะกล่าวโดยสังเขปบางส่วนเพื่อการนำมาประยุกต์ใช้ในองค์การ ดังนี้
      5.4.1 ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Hierachy of Needs)
           มาสโลว์ (Abraham H.Maslow) เป็นนักจิตวิทยากลุ่มมนุษย์นิยมทฤษฎีของเขาได้ชื่อว่าทฤษฎีลำดับความต้องการ โดยอธิบายว่ามนุษย์มีความต้องการเป็นลำดับขั้น ซึ่งพบว่าบุคคลมักดิ้นรนตอบสนองความต้องขั้นต่ำสุดก่อน เมื่อได้รับการตอบสนองแล้ว จึงแสวงหาความต้องการขั้นสูงขึ้นไปตามลำดับ ในยุคแรกๆ ที่มาสโลว์ทำการศึกษาเขาแบ่งความต้องการของมนุษย์เป็น 5 ลำดับ ลำดับ 1-4 เป็นความต้องการระดับต้น ลำดับที่ 5 เป็นความต้องการระดับสูง ในยุคต่อมามาสโลว์ ได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมและแบ่งความต้องการลำดับที่ 5 ให้ละเอียดออกไปอีกเป็น 3 ลำดับ รวมใหม่ทั้งหมดเป็น 7 ลำดับขั้นของความต้องการ ดังต่อไปนี้

ความต้องการ
ภาพปิรามิดแสดงลำดับขั้นความต้องการ ตามแนวคิดของมาสโลว์ 7 ลำดับขั้น ลำดับ 1-4 เป็นความต้องการระดับต้น หรือระดับขาดแคลน ลำดับที่ 5-7 เป็นความต้องการระดับสูงหรือระดับสร้างความสมบูรณ์แบบให้ชีวิต
          จากภาพ อธิบายลำดับขั้นความต้องการตามแนวคิดของมาสโลว์ ได้ดังนี้
          ลำดับขั้นที่ 1 ความต้องการทางสรีระ (physical needs) คือความต้องการตอบสนองความหิวกระหาย ความเหนื่อย ความง่วง ความต้องการทางเพศ ความต้องการขับถ่าย ความต้องการมีกิจกรรมทางร่างกาย และความต้องการสนองความสุขของประสาทสัมผัส
          ลำดับขั้นที่ 2 ความต้องการความปลอดภัย (sefety needs) คือความต้องการการคุ้มครองปกป้องรักษา ความอบอุ่นใจ ความปราศจากอันตราย และต้องการหลีกเลี่ยงความวิตกกังวล
          ลำดับขั้นที่ 3 ความต้องการความเป็นเจ้าของ และความรัก (belongingness and love needs) คือความอยากมีเพื่อน มีพวกพ้อง มีกลุ่ม มีครอบครัว และมีความรัก ขั้นนี้จัดเป็นความต้องการทางสังคม
          ลำดับขั้นที่ 4 ความต้องการเป็นที่ยอมรับ ยกย่อง และเกียรติยศชื่อเสียง (esteem needs) คือความอยากมีชื่อเสียง มีหน้ามีตา มีคนยกย่องเลื่อมใส มีความเด่นดัง และต้องการความรู้สึกที่ดีของคนอื่นต่อตน
          ลำดับขั้นที่ 5 ความต้องการใฝ่รู้ใฝ่เรียน (need to know and understand) คื่อความอยากรู้ อยากเข้าใจ อยากมีความสามารถ อยากมีประสบการณ์
          ลำดับขั้นที่ 6 ความต้องการทางสุนทรียะ (aesthetic needs) ได้แก่ความต้องการด้านความดี ความงาม คุณธรรม และความละเอียดอ่อนทางจิตใจ
          ลำดับขั้นที่ 7 ความต้องการความสำเร็จ หรือความสมบูรณ์แบบในชีวิต (self actualization needs) ขั้นนี้ถือว่าเป็นความต้องการสูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะเกิดขึ้นนี้ได้ต้องปูพื้นฐานให้บุคคลได้ตอบสนองความต้องการของตนในลำดับขั้นที่ 1 เป็นลำดับมาจนถึงระดับสูง หรือสร้างความรู้สึก “พอ” ในความเป็นเขาเสียก่อน ซึ่งบุคคลประเภทนี้มักได้รับ ประสบการณ์สูงสุด คือได้รับประสบการณ์เข้มข้นบางประการด้วยตนเองจนตระหนักในสภาพความเป็นจริงแห่งชีวิต ซึ่งบางคนกล่าวว่าเข้าถึงปรัชญาชีวิต หรือสัจจธรรมแห่งชีวิต
          ความต้องการทั้ง 7 ลำดับขั้นตอนตามแนวคิดของมาสโลว์นั้น บุคคลจะกระทำการเพื่อสนองความต้องการลำดับแรกก่อน แล้วจึงดิ้นรนเพื่อสนองความต้องการถัดมาเป็นลำดับตัวอย่างพฤติกรรมของพนักงานในองค์การ เช่น ตราบใดที่ค่าแรงยังไม่พอกิน (ความต้องการขั้นที่ 1 ) หรือตนต้องเผชิญสถานการณ์เสี่ยงภัยในหน้าที่ (ความต้องการขั้นที่ 2) ในภาวะดังกล่าวนั้น พนักงานอาจยังไม่คำนึงถึงความรัก การยอมรับ การยกย่องและเกียรติยศชื่อเสียง (ความต้องการขั้นที่ 4) หรือจะยังไม่ดิ้นรนเพื่อใฝ่หาความรู้ ความดี ความงาม หรือความสมบูรณ์แบบส่วนตัว (ความต้องการขั้นที่ 5,6 และ 7) จึงเห็นได้ว่าคนบางคนกระทำในสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ เพื่อให้ความต้องการทางกาย ได้รับตอบสนอง เช่น เพื่อให้ท้องหายหิว เพื่อสนองความต้องการทางเพศ หรือเพื่อสะสมเงินทองเอาไว้ให้อบอุ่นใจว่าต่อไปภายหน้าจะได้มีกินมีใช้
     5.4.2 ทฤษฎีความคาดหวังของวรูม (Vroom Expectancy Theory)
          วรูม (Victor H.Vroom) เป็นนักจิตวิทยาในกลุ่มพุทธินิยม (Cognitive Psychology) ที่ศึกษาวิจัยการทำงานของคนในโรงงานอุตสาหกรรม และได้สร้างทฤษฎีความคาดหวังไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1964 แม้คำอธิบายในทฤษฎีของวรูมอาจจะยังมีความไม่สมบูรณ์ แต่ก็พบว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้มีการวิจัยต่อเนื่องมาอีกมากในเรื่องแรงจูงใจในการทำงานของคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม นักจิตวิทยาในกลุ่มพุทธินิยมนี้เชื่อในเรื่องของความคิดของบุคคลว่าเป็นส่วนสำคัญในการทำใหเกิดแรงจูงใจต่อพฤติกรรม หรือการกระทำ แม้จะมีเรื่องของผลรางวัลหรือสิ่งเร้าภายนอกตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจคือความคิดของบุคคล นักจิตวิทยาบางคนในกลุ่มนี้ศึกษาเรื่องการวางแผน บางคนศึกษาเรื่องการตั้งเป้าหมาย แต่สำหรับวรูมจะเน้นศึกษาเรื่องความคาดหวัง
          คำอธิบายของวรูมเน้นใน 2 เรื่องด้วยกัน คือเรื่องค่านิยมในงานว่าทำงานแล้วคาดหวังว่าจะได้อะไร เช่น ทำงานให้ดี เพื่อหวังจะได้รับเงินเดือนเพิ่ม หรือบางคนหวังได้รับคำยกย่อง ในที่นี้เงินและคำยกย่องเป็นค่านิยม และอีกเรื่องที่เน้นคือแรงจูงใจซึ่งกำหนดทิศทางการกระทำเพื่อให้ได้ตามค่านิยมของตน คือคาดหวังว่าจะได้ตามค่านิยม เป็นแรงจูงใจให้บุคคลใช้ความพยายามกระทำให้สำเร็จ และความสำเร็จของงานเกิดจากความพยายามบวกกับความสามารถของตน จากคำอธิบายดังกล่าวนี้ หลายคนเห็นว่าวรูมเน้นที่สิ่งจูงใจจากภายนอก คือความคาดหวังที่จะได้รับรางวัล ได้รับการยกย่อง ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น ฯลฯ แต่ถ้ามองทัศนะของกลุ่มพุทธินิยม กลุ่มนี้จะกล่าวว่า ความคาดหวังซึ่งเป็นความคิดของบุคคล เป็นจุดสำคัญของแรงจูงใจ
          การศึกษาของวรูมนับว่าเป็นประโยชน์และเป็นจุดเริ่มต้นให้มีการศึกษาค้นคว้าเรื่องแรงจูงใจในการทำงานอีกมาก ตัวอย่างการศึกษาที่น่าสนใจ เช่น ในปี ค.ศ.1976 กาลเบรธ และคัมมิงส์ ได้นำวิธีการของเขาไปศึกษาการทำงานของคนงานคุมเครื่องจักรในโรงงานการผลิตเครื่องจักร พบว่าการที่คนงานทำงานสำเร็จได้ด้วยดีนั้น มีทั้งแรงจูงใจภายในและภายนอก แรงจูงใจภายนอกก็คือรางวัลหรือค่าตอบแทนเพิ่ม ส่วนแรงจูงใจภายในคือความรู้สึกพึงพอใจที่ได้รับความสำเร็จ และในปีเดียวกันนักวิจัยชื้อลอว์เลอร์และพอร์ตเตอร์ ได้นำวิธีการของวรูมไปศึกษากลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลในองค์การ ได้พบปัจจัยที่ส่งผลสู่ความสำเร็จของงานเพิ่มเติมจากที่วรูมได้ทำการศึกษาไว้ โดยวรูมได้กล่าวถึงปัจัย 2 ตัว คือ ความพยายามกับความสามารถที่เมื่อผนวกกันเข้าก็ทำให้งานสำเร็จ แต่ลอว์เลอร์และพอร์ตเตอร์ได้พบจากการศึกษาวิจัยของเขาว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้คนงานทำงานสำเร็จ ประกอบด้วย ความพยายาม ความสามารถ และการรับรู้บทบาท คือการที่บุคคลรับรู้บทบาท ซึ่งได้แก่การเข้าใจงานในหน้าที่ของตน จะเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นแรงจูงใจให้ทำงานสำเร็จ นอกจากนั้นลอว์เลอร์และพอร์ตเตอร์ ยังเสนอแนะไว้ในการศึกษาของเขาว่า ในการให้รางวัลแก่ผู้ปฏิบัติ ควรเป็นไปโดยสัมพันธ์สอดคล้องกับความพยายามที่ผู้ปฏิบัติงานได้ลงทุนลงแรงในงานนั้นๆ
          แนวคิดในทฤษฎีของวรูม สรุปได้ว่า แรงจูงใจในการทำงานของบุคคล เกิดจาความคิดของบุคคลในการตั้งความคาดหวังในสิ่งที่กระทำ ซึ่งความคาดหวังนั้นมักเป็นไปตามค่านิยมของตน ทำให้บุคคลพยายามทำให้ได้ หากสิ่งที่พยายามสอดคล้องกับความสามารถด้วย ก็จะเป็นแรงจูงใจที่เข้มข้นสำหรับบุคคล นอกจากนั้น ผลการศึกษาต่อเนื่องจากวรูมก็ช่วยสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว และยังได้ข้อสรุปเพิ่มขึ้นจากการที่บุคคลได้เข้าใจบทบาทการทำงานของตนเป็นอย่างดี จึงเห็นได้ว่า แนวทางในการสร้างแรงจูงใจให้บุคคลทำงาน คือการสร้างความคาดหวัง การให้ตระหนักในค่านิยมต่องาน การใช้ความพยายามการเสริมสร้างความสามารถในงาน และการช่วยให้บุคคลเข้าใจบทบาทของตนในงานนั้นๆ
     5.4.3 ทฤษฎีการจูงใจของแมคเกรเกอร์ (McGregor’s Theory X and Theory Y)
          แมคเกรเกอร์ (Douglas McGregor) เป็นศาสตราจารย์วิชาการบริหาร ณ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเสทส์ สหรัฐอเมริกา เขาทำการศึกษาวิจัยพฤติกรรมการทำงานของมนุษย์ และได้สร้างทฤษฎีการจูงใจในการทำงานเป็น 2 ทฤษฎี ดังนี้
          5.4.3.1 ทฤษฎี X
          ทฤษฎีนี้มองความเป็นมนุษย์ในแง่ไม่ดี สรุปแนวคิดที่สำคัญของทฤษฎีนี้ได้เป็น 3 ประการ คือ เห็นว่าโดยธรรมชาติของมนุษย์ที่แท้จริงนั้น มนุษย์ไม่ชอบทำงาน หากมีโอกาสหลีกเลี่ยงได้ก็พยายามหลีกเลี่ยง
เห็นว่าวิธีที่จะทำให้มนุษย์ทำงานได้นั้น ต้องใช้วิธีบังคับ ควบคุม ข่มขู่ สั่งการ และลงโทษ เพื่อให้งานบรรลุวัตถุประสงค์
เห็นว่ามนุษย์ส่วนใหญ่ชอบเป็นผู้ตามมากว่าผู้นำ และพยายามหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ ไม่คอยหวังความก้าวหน้า ทะเยอทะยานน้อย แต่สิ่งที่ต้องการมากเหนืออย่างอื่นคือ ความมั่นคงปลอดภัย
          จากแนวคิดที่มองว่ามนุษย์ไม่ดีดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าผู้ที่เชื่อตามแนวคิดของทฤษฎีนี้ หากจะมอบหมาย
ให้ใครทำงานอะไร จึงต้องมีหัวหน้างานคอยควบคุม บังคับบัญชาเพราะเห็นว่าถ้าไม่มีหัวหน้าบังคับบัญชาหรือไม่มีใครมาชี้นิ้วสั่งการ งานก็มักไม่เดิน การที่มีหัวหน้ามาบังคับบัญชาในความหมายของกลุ่มนี้ คือ การว่ากล่าวและลงโทษ เหตุที่ต้องทำดังนี้ โดยมีเหตุผลว่าพื้นฐานของคนมักเกียจคร้านและขาดความรับผิดชอบ คือทฤษฎีในกลุ่มนี้จะมองมนุษย์ในแง่ลบเป็นส่วนใหญ่
          5.4.3.2 ทฤษฎี Y
          ทฤษฎีนี้มองความเป็นมนุษย์ในแง่ดี แนวคิดของทฤษฎีนี้ สรุปสาระสำคัญได้ 6 ประการ ดังต่อไปนี้
          โดยธรรมชาติของมนุษย์ส่วนใหญ่ มีความมานะ พยายามทั้งทางจิตใจและร่างกาย ความพยายามมีคู่กับความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับการพักผ่อนหรือการแสวงหาความเพิลดเพลิน มนุษย์มิได้รังเกียจการทำงาน เห็นว่างานช่วยสนองความต้องการของตน และเห็นว่าบางครั้งบางคราวที่มนุษย์จำต้องหลีกเลี่ยงงานนั้น น่าจะเนื่องมาจากลักษณะการควบคุมของหัวหน้างาน หรืออำนาจการควบคุมจากภายนอก
การทำให้ผลงานบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ อาจไม่จำเป็นต้องใช้การควบคุมและบังคับ การให้โอกาสคนงานได้ทำงานในบรรยากาศที่เขาเป็นตัวของตัวเอง และยอมรับในวัตถุประสงค์ของงานได้ จะส่งผลให้งานบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
มนุษย์โดยทั่วไปให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นกลุ่ม เป็นทีม เป็นคณะทำงานอยู่แล้ว ดังตัวอย่างที่บางประเทศ หรือบางท้องที่ที่นิยมมารวมกลุ่มทำงานด้วยกันที่เรียกว่า “ประเพณีลงแขก” ในสมัยโบราณ
มนุษย์มักยึดมั่นกับวัตถุประสงค์ของงาน เมื่อทำงานสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของงาน เมื่อทำงานสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของงานแต่ละอย่าง จะเกิดความรู้สึกพอใจ สมใจ เกิดความพยายามในการทำงานมากขึ้นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การโดยส่วนรวม
มนุษย์เกิดการเรียนรู้จากสถานการณ์ที่เหมาะสมพร้อมต่อการยอมรับในความรับผิดชอบของตน และพร้อมต่อการแสวงหาความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น ใครก็ตามที่หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ ขาดความทะเยอทะยานและแสวงหาความมั่นคง ความปลอดภัยอย่างเดียว น่าจะไม่ใช่ลักษณะที่แท้จริงของเขา การกระทำนั้นๆ น่าจะเนื่องมาจากอิทธิพลของสิ่งผลักดันบางอย่าง
บุคคลในองค์การแต่ละคน มักมีคุณลักษณะในตัวด้วยกันทั้งนั้นในด้านความสามารถทางการคิด ความฉลาด การสร้างจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์
จะเห็นได้ว่าทฤษฎี Y ของแมคเกรเกอร์ ของมนุษย์ในแง่ดี จากแนวคิดที่มองมนุษย์ในแง่ดีดังกล่าว ซึ่ง
          เป็นแนวคิดที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ก่อให้เกิดที่มาของหลักการด้านมนุษยสัมพันธ์ คือ ความเชื่อที่ว่ามนุษย์เป็นผู้ที่ชอบสังคม อยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องในระบบสังคม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน นอกจากนั้นทฤษฎี Y นี้ ยังเน้นการพัฒนาตนเองของมนุษย์แต่ละคน มนุษย์มักรู้จักตนเองดี และรู้ขีดความสามารถของตน ผู้บังคับบัญชาควรมีความรู้สึกนึกคิดที่ดีต่อพนักงาน และควรสร้างสถานการณ์ที่เอื้อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้สึกรับผิดชอบ และมีส่วนร่วมในการดำเนินงานไปสู่เป้าหมาย ทั้งที่เป็นเป้าหมายส่วนบุคคล และเป้าหมายขององค์การ และทฤษฎีนี้ยังมีความคิดต่อระบบงานอุตสาหกรรมและงานธุรกิจในปัจจุบันด้วยว่า ผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนมีโอกาสแสดงความสามารถของตนเพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งในองค์การแต่ละแห่งควรให้ผู้ปฏิบัติงานมีโอกาสมากขึ้นในการได้แสดงความสามารถของตนให้มากที่สุด ซึ่งถ้าผู้บังคับบัญชาสร้างบรรยากาศให้ผู้ปฏิบัติงาน เกิดความรู้สึกรับผิดชอบและมีส่วนร่วมในงาน ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีโอกาสแสดงความสามารถได้เต็มที่ จะส่งผลต่องานขององค์การอีกหลายประการ ทั้งในแง่ผลงานและความรู้สึกผูกพันกับองค์การ
     5.4.4 ทฤษฎีสองปัจจัยของเฮอร์ซเบอร์ก (Herzberg’s Two Factor Theory)
          เฮอร์ซเบอร์ก (Frederick Herzberg) เป็นนักจิตวิทยาอีกผู้หนึ่งที่มุ่งมั่นศึกษาเรื่องแรงจูงใจในการทำงาน ผลงานของเขาในเรื่องนี้มีปรากฎแพร่หลายมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1966 และ ค.ศ.1968 ปัญหาที่เขาเฝ้าถามตนเองอยู่เสมอคือ ทำอย่างไรจะจูงใจคนในการทำงานได้เป็นอย่างดี เขาเห็นว่าการให้ค่าแรงต่ำทำให้คนงานไม่พอใจ แต่การให้ค่าแรงสูงก็มิได้ทำให้คนงานอยากทำงานหนักขึ้น เงินมิใช่สิ่งจูงใจสูงสุดจะทำให้คนงานทำงานได้มากกว่าเดิม แม้เงินจะมีความสำคัญก็ตาม ขณะเดียวกันความมั่นคงและบรรยากาศที่ดีในองค์การก็มิใช่สิ่งจูงใจสูงสุดอีกเช่นเดียวกัน
          ทฤษฎีของเฮอร์ซเบอร์ก เน้นอธิบายและให้ความสำคัญกับปัจจัย 2 ประการ ได้แก่ “ตัวกระตุ้น (motivators) และ “การบำรุงรักษา” (hygiene) สองปัจจัยดังกล่าวนี้มีอิทธิพลต่อความสำเร็จของงานเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผู้บริหารองค์การ ควรพิจารณาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารคนและบริหารงาน
          เฮอร์ซเบอร์กได้ทำการศึกษาโดยสัมภาษณ์ความพอใจและไม่พอใจทำงานของนักบัญชีและวิศวกรจำนวน 200 คน จากโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจ 11 แห่ง ของเมืองพิตสเบอร์ก ผลการศึกษาของเขาสรุปได้ว่า ความพอใจในการทำงานกับแรงจูงใจในการทำงานของบุคคลมีความแตกต่างกัน คือ การที่บุคคลพอใจในการทำงานมิได้หมายความว่าบุคคลนั้นมีแรงจูงใจในการทำงานเสมอไป ความพอใจในการทำงานส่งผลให้บุคคลไม่ค่อยคิดจะลาออกจากงานหรือไม่ค่อยมีความคิดจะนัดหยุดงาน แต่อาจไม่มีส่วนต่อการมุ่งมั่นทำให้งานเจริญก้าวหน้า แต่ถ้าคนงานผู้ใดมีแรงจูงใจในการทำงาน คนงานนั้นจะตั้งใจทำงานให้เกิดผลดี ทฤษฎีและการศึกษาของเฮอร์ซเบอร์ก ซึ่งให้ความสำคัญแก่ปัจจัยด้านตัวกระตุ้นและการบำรุงรักษาที่มีต่อเจตคติในงานของผู้ปฏิบัติงาน ดังภาพ
          ผลการศึกษาของเฮอร์ซเบอร์ก ที่แสดงให้เห็นผลของปัจจัยด้านตัวกระตุ้นและการบำรุงรักษาต่อเจตคติในงานของผู้ปฏิบัติงาน
          จากภาพ ซึ่งแสดงปัจจัย 2 ประการ คือ ตัวกระตุ้นและการบำรุงรักษาที่มีอิทธิพลต่อการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน เฮอร์ซเบอร์กได้วิเคราะห์จากการศึกษาของเขา ดังนี้
               1. ปัจจัยด้านตัวกระตุ้น
          ปัจจัยด้านนี้มีผลต่อการกระตุ้น ทำให้บุคคลเกิดความพอใจ แต่แม้ว่าการไม่มีปัจจัยนี้ ก็ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ไม่พอใจเสมอไป ตัวกระตุ้นปาระกอบด้วยปัจจัย 6 ประการ ดังนี้
          ความสัมฤทธิ์ผล คือ พนักงานควรต้องมีความรู้สึกว่าเขาทำงานได้สำเร็จ ซึ่งอาจจะทั้งหมดหรือบางส่วน
การยอมรับนับถือจากผู้อื่น คือ พนักงานควรต้องมีความรู้สึกว่าความสำเร็จของเขานั้นมีคนอื่นรับรู้ มีคนยอมรับ
ลักษณะงานที่น่าสนใจ คือพนักงานควรต้องมีความรู้สึกว่า งานที่เขาทำมีความน่าสนใจ น่าทำ
ความรับผิดชอบ คือพนักงานควรต้องมีความรู้สึกว่าเขามีสิ่งที่จะต้องรับผิดชอบต่อตนเองและต่องานของเขา
โอกาสที่จะเจริญก้าวหน้า คือ พนักงานควรต้องรู้สึกว่า เขามีศักยภาพที่จะเจริญก้าวหน้าในงานของเขา
การเจริญเติบโต คือ พนักงานจะต้องตระหนักว่าเขามีโอกาสเรียนรู้เพิ่มขึ้นจากงานที่ทำ มีทักษะหรือความเชี่ยวชาญจากการปฏิบัติงาน
               2. ปัจจัยด้านการบำรุงรักษา
          ปัจจัยด้านนี้ช่วยให้พนักงานยังคงทำงานอยู่และรักษาเขาไว้ไม่ให้ออกไปทำงานที่อื่น เมื่อไม่ได้จัดให้ พนักงานจะไม่พอใจและไม่มีความสุขในการทำงานของเขาการบำรุงรักษา ประกอบด้วยปัจจัย 10 ประการ ดังนี้
          นโยบายแลการบริหาร คือ พนักงานรู้สึกว่าฝ่ายจัดการมีการสื่อสารที่ดียิ่งกับพนักงาน พนักงานก็มีความรู้สึกที่ดีต่อองค์การและนโยบายการบริหารงานบุคคล
          การนิเทศงาน คือ พนักงานรู้สึกว่า ผู้บริหารงานตั้งใจสอนและแจกจ่ายหน้าที่ความรับผิดชอบ
          ความสัมพันธ์กับหัวหน้างาน คือ พนักงานมีความรู้สึกที่ดีต่อหัวหน้างานของเขา
          ภาวะการทำงาน คือพนักงานรู้สึกดีต่องานที่ทำและสภาพการณ์ของที่ทำงาน
          ค่าตอบแทนการทำงาน คือ พนักงานรู้สึกว่าเงื่อนไขค่าตอบแทนการทำงาน มีความเหมาะสม
          ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน คือพนักงานมีความรู้สึกที่ดีต่อกลุ่มเพื่อนร่วมงาน
          ชีวิตส่วนตัว คือ พนักงานรู้สึกว่างานของเขาทั้งด้านชั่วโมงการทำงาน การย้ายงาน ฯลฯ ไม่กระทบต่อชีวิตส่วนตัว
          ความสัมพันธ์กับลูกน้อง คือ หัวหน้างานมีความรู้สึกที่ดีต่อผู้ใต้บังคับบัญชา
          สถานภาพ คือ พนักงานรู้สึกว่างานของเขามีตำแหน่งหน้าที่ดี
          ความมั่นคง คือพนักงานมีความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยในงานที่ปฏิบัติและงานมีความมั่นคง

          จากผลการศึกษาของเฮอร์ซเบอร์กดังกล่าวนี้ จึงเห็นได้ว่า ความพอใจและแรงกระตุ้นของพนักงาน
ส่วนใหญ่เกิดจากลักษณะของงาน ดังนั้นองค์การจึงควรจัดให้มีองค์ประกอบด้านการกระตุ้นเกี่ยวกับงาน ซึ่งอาจทำได้หลายลักษณะด้วยกัน วิธีที่ยอมรับกันมากวิธีหนึ่ง คือการกระจายงาน แนวทางการกระจายงาน อาจทำได้หลายแนวทางดังนี้
          แนวทางที่ 1 ลดการเข้มงวดกับพนักงาน และเปิดโอกาสให้พนักงานใช้เหตุผลและความรับผิดชอบในงานของเขาให้มากขึ้น
          แนวทางที่ 2 จัดให้พนักงานทำงานรวมกันเป็นหน่วยเดียวที่มีความสมบูรณ์ในตัวมากกว่าที่จะแยกกันทำงานตามลำพังเป็นส่วน
          แนวทางที่ 3 ให้อำนาจพนักงานมากขึ้นในการตัดสินใจและการปฏิบัติ และให้คนงานมีอิสระบ้างในการดำเนินงาน
          แนวทางที่ 4 จัดให้มีการประชาสัมพันธรายงานผลผลิตต่อพนักงานผู้ปฏิบัติโดยตรงอย่างสม่ำเสมอและบ่อยๆ มากขึ้น เพื่อให้พนักงานรับรู้ผลงานของตน แทนที่จะรายงานต่อผู้ตรวจงานของพนักงานเท่านั้น
          แนวทางที่ 5 กระตุ้นให้พนักงานลองทำงานใหม่ๆ และงานที่มีความยากมากขึ้นซึ่งจะสร้างแรงจูงใจให้พยายาม และก้าวหน้ามากขึ้น
          แนวทางที่ 6 มอบงานพิเศษให้ทำ เพื่อพนักงานจะได้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะอย่างอาจเป็นด้านปฏิบัติหรือกระบวนการทำงาน หรือการพัฒนาการคิดในตัวพนักงานแต่ละคน
          แนวทางการกระจายที่กล่าวมานี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตของพนักงาน ให้เกิดความรู้สึกประสบความสำเร็จ ความรับผิดชอบ การยอมรับ และการให้ข้อมูลย้อนกลับ หรือให้ได้รับทราบถึงผลการปฏิบัติงานของเขา และการกระจายงานยังช่วยสนองความต้องการของพนักงาน ก่อให้เกิดการจูงใจในการทำงานและช่วยให้พนักงานได้รับการยอมรับในผลงานของเขาได้ด้วย
          จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า ในการบริหารงานเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้บุคลากร ผู้บริหารควรเน้นปัจจัยที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการทำงาน เช่น การมอบงานให้รับผิดชอบมากขึ้น การส่งเสริมความก้าวหน้าของพนักงาน เป็นต้น ส่วนปัจจัยด้านการบำรุงรักษาก็ควรต้องให้ความสนใจด้วยแต่มิใช่เน้นเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน หากแต่เป็นไปเพื่อป้องกันมิให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความไม่พอใจในการทำงาน ถ้าทำได้เพียงเท่านี้ก็นับว่าน่าพอใจแล้ว
     5.4.5 ทฤษฎีและการศึกษาเรื่องแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ของแมคคลีแลนด์ (McClelland’s Need Achievement Theory)
          นักจิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ที่สำคัญมี 2 คน คือ เดวิด แมคคลีแลนด์ และจอห์น แอทคินสัน ซึ่งเน้นอธิบายการจูงใจของบุคคลที่กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการความสำเร็จ มิได้หวังรางวัลตอบแทนจากการกระทำของเขา ซึ่งความต้องการความสำเร็จนี้ ในแง่ของการทำงานหมายถึงความต้องการทำงานที่ดี ทำงานนั้นให้ดีที่สุด และทำได้สำเร็จเมื่อทำได้สำเร็จแล้วจะเป็นแรงกระตุ้นให้ทำงานอื่นให้สำเร็จต่อไป ซึ่งจากที่กล่าวนี้จะเห็นได้ว่าพนักงานในองค์การนั้น ถ้ามีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูงไม่ว่าจะเป็นพนักงานระดับใด มักจะก้าวหน้าได้รวดเร็ว ในที่นี้จะกล่าวถึงทฤษฎีจากการศึกษาค้นคว้าของแมคคลีแลนด์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับและกล่าวถึงกันโดยทั่วไป
          จากผลการศึกษาวิจัย แมคคลีแลนด์ได้สรุปคุณลักษณะของคนที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูง ว่าประกอบด้วยลักษณะต่อไปนี้ คือมีความต้องการรับผิดชอบมาก ไม่เกี่ยงงาน และเมื่อเผชิญอุปสรรคก็มักค้นหาวิธีแก้ปัญหาให้ได้ ไม่ยอมแพ้ปัญหา ในองค์การที่มีพนักงานลักษณะนี้มักเป็นพนักงานที่ทำงานคนเดียว หรือถ้าจะเลือกผู้ร่วมงานเขามักเลือกผู้มีความสามารถ ไม่เลือกโดยคำนึงถึงความเป็นพรรคพวกเดียวกัน ไม่เล่นพวก
มีความต้องการผลสำเร็จสูง พนักงานลักษณะนี้มักตั้งเป้าหมายให้สูงเข้าไว้และพอใจกับการทำงาน ท้าทายความสามารถเพื่อให้ถึงเป้าหมายนั้นให้ได้ ไม่กลัวเหนื่อย ไม่คิดว่าตนทำงานมากกว่าคนอื่น
มีความต้องการรับทราบผลการกระทำของตน พนักงานลักษณะนี้จะกระหายใคร่รู้ความคิดของคนอื่นมาก เขาอยากรู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไรหรือรู้สึกอย่างไรกับผลงานของเขาและอยากรู้ว่าสิ่งที่เขาทำส่งผลต่องานของส่วนรวมหรือผู้อื่นอย่างไร ถ้าไม่ได้รับทราบจะกังวลใจ ถ้าทราบว่าให้ผลดีจะพึงพอใจและเป็นแรงกระตุ้นให้กระทำอย่างอื่นต่อไป
ด้วยคุณลักษณะของผู้มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูง 3 ประการดังกล่าว เมื่อแมคคลีแลนด์ทำการศึกษา
          พนักงานในองค์การที่มีลักษณะที่ว่านั้นว่าพนักงานเหล่านี้เมื่อทำงานสำเร็จแล้ว เขาต้องการผลตอบแทนอย่างไร ผลการศึกษาพบว่าพนักงานไม่ต้องการแรงจูงใจอื่นใดอีกเพราะเขามีของเขาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องการให้องค์การจัดกระทำ คือ สภาพการทำงานที่เหมาะสมที่เอื้อให้เขาทำงานได้สำเร็จ ซึ่งจากการศึกษาของแมคคลีแลนด์และคนอื่นๆ ได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจในเรื่องความต้องการของพนักงานที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูง คือ พนักงานที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูงมักต้องการทำงานที่มีลักษณะ 3 ประการด้วยกัน ดังนี้คือ
          ประการที่ 1 พนักงานต้องการที่เปิดโอกาสให้เขารับผิดชอบเป็นส่วนเฉพาะของเขา เขามีอิสระที่จะตัดสินใจ และแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเขาเอง
          ประการที่ 2 พนักงานต้องการงานที่มีระดับยากง่ายพอดี ไม่ง่ายเกินไป หรือยากเกินไปกว่าความสามารถของเขา เขาเห็นว่า ถ้าง่ายเกินไปก็ประสบความสำเร็จระดับต่ำ ถ้ายากเกินไปก็อาจทำไม่สำเร็จ
          ประการที่ 3 พนักงานต้องการงานที่มีความแน่นอนและต่อเนื่องของการได้รับทราบผลงานและความก้าวหน้าของเขา คือ ต้องการให้มีการสนับสนุนงานนั้นๆ ให้ดำเนินไปได้ตลอดต้องการการยอมรับในระดับที่พอดีในภาพรวมของผลงาน และโดยต่อเนื่องสม่ำเสมอเพื่อให้เขาได้มีโอกาสแสดงผลงานได้เรื่อยๆ เพื่อให้เห็นความก้าวหน้าและพิสูจน์ตนเอง
          จากการศึกษาของแมคคลีแลนด์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำงานของพนักงานในองค์การเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการทำงานของพนักงานช่วยให้ได้ผลงานที่มีประสิทธภาพเพิ่มขึ้น สำหรับพนักงานที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูง เงินเดือนหรือค่าตอบแทน หรือรางวัลเป็นสิ่งของอาจไม่สามารถดึงดูดใจเขาได้พอ สิ่งที่เขาต้องการคือลักษณะของงานที่เปิดโอกาสให้เขาได้รับความสำเร็จ
     5.4.6 ทฤษฎีแรงจูงใจไร้สำนึกของฟรอยด์ (Freud’ Psychoanalytic Theory)
          ทฤษฎีนี้เป็นแนวคิดของกลุ่มจิตวิเคราะห์ ซึ่งมีฟรอยด์ (Sigmund Freud) เป็นผู้นำ ฟรอยด์มีความเห็นว่า “เพศ” และความก้าวร้าว เป็นแรงขับให้เกิดพฤติกรรม เพศเป็นแรงผลักดันขั้นพื้นฐานของพฤติกรรมทุกอย่าง ส่วนความก้าวร้าวนั้นมักเกิดภายหลังแรงผลักดันทางเพศ โดยแรงผลักดันทางเพศทำให้เกิดพฤติกรรม พฤติกรรมที่ได้รับผลไม่เป็นที่พึงพอใจทำให้เกิดความคับข้องใจ ความคับข้องใจทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวตามมา
          ทฤษฎีนี้ได้ชื่อว่าทฤษฎีแรงจูงใจไร้สำนึก เนื่องจากเห็นว่าจิตไร้สำนึก (unconscious mind) เป็นสิ่งผลักดันให้เกิดพฤติกรรมมากที่สุด เช่น ตัวอย่างพฤติกรรมพลั้งเผลอของพนักงาน เมื่อถูกมอบหมายงานให้ทำงานบางอย่างแล้วลืมทำ เมื่อถูกทวงถามและพนักงานต้องการพูดว่า “ขอโทษ เสียใจมากที่ลืม” ก็อาจกลายเป็น “ขอโทษ ดีใจมากที่ลืม” ตามสิ่งผลักดันจากจิตไร้สำนึก ตัวอย่างเหล่านี้อย่างน้อยก็เป็นแนวคิดแก่ผู้บริหารหรือผู้ทำงานธุรกิจในการให้ความสนใจผู้ทำงานด้วยกัน ใครที่ลืมทำงานอะไรบ่อยๆ อาจเพราะไม่ชอบงานนั้นก็ได้
     5.4.7 ทฤษฎีการจูงใจที่เนื่องมาจากสิ่งเร้าของกลุ่มพฤติกรรมนิยม (Stimulus-Response Theory)
          ทฤษฎีการจูงใจที่เนื่องมาจากสิ่งเร้าส่วนใหญ่เป็นของนักจิตวิทยาในกลุ่มพฤติกรรมนิยมผู้นำสำคัญในเรื่องนี้คือสกินเนอร์ (B.F Skinner) ซึ่งเชื่อว่าสิ่งเร้าเป็นตัวควบคุมพฤติกรรม นอกจากจะให้ความสำคัญกับสิ่งเร้าแล้ว ยังเน้นความสำคัญของการใช้ตัวเสริมแรงหรือแรงเสริม โดยเห็นว่าทำให้เกิดพฤติกรรมที่มีความคงทนถาวร คำว่า”ตัวเสริมแรง” หรือ “แรงเสริม” เป็นสิ่งที่บุคคลชอบและต้องการ ซึ่งบุคคลได้รับภายหลังจากที่มีพฤติกรรมที่พึงปรารถนา เมื่อได้รับแรงเสริมจากพฤติกรรมดังกล่าวบุคคลมีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมแบบเดิมอีกในเวลาต่อไป ตัวอย่างเช่น พนักงานในองค์การที่ทำยอดปริมาณงานได้สูงและมีคุณภาพแล้วได้รับรางวัล เขามีแนวโน้มจะทำงานให้ได้อีกในเวลาต่อไป ดังนั้นเทคนิคการจูงใจตามทฤษฎีนี้ คือ ต้องใช้สิ่งเร้าภายนอกที่เหมาะสมมาทำให้เกิดพฤติกรรม อาจจะเป็นคำชักชวน เป็นงานท้าทายที่มอบให้ทำ ฯลฯ และเมื่อเกิดพฤติกรรมที่พึงปรารถนาแล้วก็ให้แรงเสริมกับพฤติกรรมนั้น เพื่อให้แสดงพฤติกรรมที่ดีนั้นๆ อีกในเวลาต่อไป คำว่าแรงเสริมนั้นอาจจะเป็นอะไรก็ได้ที่บุคคลต้องการซึ่งไม่สามารถระบุแน่นอนได้ ทั้งนี้โดยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลอาจเป็นคำชม เป็นการแสดงความสนใจ ยอมรับ การยกย่อง การให้เกียรติ หรืออาจเป็นการให้รางวัลเป็นสิ่งของ เงินค่าตอบแทน หรือตำแหน่งงาน ฯลฯ
          ทฤษฎีและการศึกษาเรื่องการจูงใจที่กล่าวมาในที่นี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากทฤษฎีและการศึกษาเรื่องการจูงใจจำนวนมาก โดยเลือกนำมากล่าวเพื่อให้ผู้ศึกษาได้เข้าใจเรื่องการจูงใจในลักษณะที่จะเลือกนำไปประยุกต์ใช้ในงานได้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะต้องเลือกไปใช้ให้เหมาะสมกับบุคคลและสถานการณ์ในทฤษฎีและการศึกษาบางเรื่อง อาจไม่ถึงขั้นเสริมสร้างแรงจูงใจในการทำงานได้ อาจเป็นแต่เพียงช่วยให้ผู้ศึกษาได้แนวทางสร้างบรรยากาศที่ดีและเหมาะสมต่อการทำงาน ซึ่งก็นับว่าเป็นการประยุกต์ทฤษฎีและการศึกษาไปใช้ประโยชน์ในงานได้อีกส่วนหนึ่ง
5.5 การประยุกต์ความรู้เรื่องการจูงใจไปใช้ในงาน
          การจูงใจมีอิทธิพลมากต่อพฤติกรรมและการทำงานของบุคคล บุคคลที่ปรารถนาความก้าวหน้าในองค์การ จึงควรให้ความสนใจกับการประยุกต์ความรู้เรื่องการจูงใจไปใช้ประโยชน์ในงาน เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้เกิดแก่พนักงานและเกิดแก่ตนเองด้วยทั้งนี้ เพื่อให้งานบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งในที่นี้จะกล่าวใน 2 ประเด็น คือ ข้อควรคำนึงในการเสริมสร้างแรงจูงใจและแนวทางการเสริมสร้างแรงจูงใจในการทำงาน
     5.5.1 ข้อควรคำนึงในการเสริมสร้างแรงจูงใจในการทำงาน
          ทฤษฎีและการศึกษาเรื่องการจูงใจมีหลายลักษณะ การที่จะนำแนวคิดของแต่ละทฤษฎีหรือผลการศึกษาแต่ละเรื่องไปใช้ประโยชน์ในการสร้างแรงจูงใจในงาน จึงทำได้ในแง่มุมที่ต่างๆ กันไป แต่ก็จะมีบางส่วนที่เหมือนกันอยู่บ้างแม้จะไม่เหมือนกันทั้งหมด ในขั้นตอนของการประยุกต์ใช้นี้ ผู้นำไปใช้จะต้องเลือกให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มบุคคลที่เราจะไปสร้างแรงจูงใจให้เกิดแก่เขา ถ้าเลือกวิธีการไม่เหมาะสมแรงจูงใจก็ย่อมไม่เกิด
          ในการสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้บุคคล มีสิ่งที่ควรคำนึงถึงดังต่อไปนี้
          5.5.1.1 ความแตกต่างระหว่างบุคคล คือมนุษย์เราแม้จะมีลักษณะร่วมของความเป็นมนุษย์ที่เหมือนกันหลายประการ แต่ความแตกต่างระหว่างบุคคลก็ยังมีมาก ไม่ว่าจะเป็นความต้องการ เจตคติ ความสามารถ การแสดงออกทางอารมณ์ ความถนัดและความสนใจ ซึ่งผู้ดำเนินงานธุรกิจควรให้ความสำคัญกับความแตกต่างดังกล่าว แล้วค้นหาวิธีการสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมกับบุคคลเฉพาะราย
          ความเป็นบุคคลทั้งตัว ในการมองเพื่อเข้าใจบุคคลทั้งตัว ต้องมองในภาพรวมทั้งองค์ประกอบภาย
ในของผู้นั้นที่ซับซ้อนหลายสิ่งหลายอย่างมารวมกันเข้าเป็นตัวเขา และทั้งองค์ประกอบด้านภูมิหลัง ครอบครัว บุคคลใกล้ชิด สังคม สมาคมที่เขาเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้พนักงานองค์การต้องมีการกระทำหลายประการที่เป็นไปโดยเนื่องมาจากองค์ประกอบดังกล่าว แรงจูงใจในการทำงานก็จะเกิดแตกต่างกันไป หรือพฤติกรรมขณะอยู่ในที่ทำงานก็เป็นไปตามองค์ประกอบ อาจโทรศัพท์เข้าบ้านบ่อย อาจลางานเพื่อร่วมกิจกรรมกับเพื่อนฝูงบ้าง ฯลฯ
          5.5.1.3 แนวโน้มพฤติกรรมเมื่อได้รับแรงกระตุ้น คือผู้ทำหน้าที่สร้างแรงจูงใจในการทำงานนั้น ต้องคำนึงถึงพฤติกรรมของบุคคลเกิดโดยเนื่องมาจากสิ่งเร้าเป็นตัวกระตุ้นให้แสดงออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปโดยเนื่องมาจากความต้องการ อาจจะเป็นความต้องการทางกาย ทางสังคม หรืออาจเป็นแรงกระตุ้นจากหลายองค์ประกอบ ถ้าเจ้าขององค์การสามารถทำนายแนวโน้มพฤติกรรมเมื่อได้รับแรงกระตุ้นของพนักงานได้แน่นอนหรือค่อนข้างแน่นอน คือรู้ว่าใครจะแสดงพฤติกรรมอย่างไรเมื่อได้รับแรงกระตุ้นต่างๆ ก็ย่อมใช้ตัวกระตุ้นนั้นๆ จูงใจการทำงานของพนักงานได้
          5.5.1.4 ศักดิ์ศรีความเป็นคน มนุษย์ทุกคนย่อมมีศักดิ์ศรีของความเป็นคนในตัวเอง นักจิตวิทยากลุ่มมนุษย์นิยมจะเน้นความสำคัญในเรื่องงานเหล่านี้มาก เห็นว่ามนุษย์มีศักดิ์ศรี ศักยภาพ ความสามารถ ความดีความงามในความเป็นมนุษย์ของตน ทุกคนควรมีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคในฐานะเกิดมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ในการสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้เกิดในตัวพนักงาน จึงอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการที่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นคนดังกล่าว ไม่ควรทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกว่าเขาได้รับการปฏิบัติเยี่ยงเครื่องจักรหรือสัตว์โลกประเภทอื่น
          ข้อควรคำนึงในการสร้างแรงจูงใจในการทำงานดังกล่าว ซึ่งควรคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ความเป็นบุคคลทั้งตัว แนวโน้มพฤติกรรมเมื่อได้รับแรงกระตุ้นและศักดิ์ศรีความเป็นคนนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นการให้ความสำคัญกับพนักงาน ซึ่งเป็นที่ยอมรับในสังคมประชาธิปไตยว่า เป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมสร้างแรงจูงใจให้เกิดแก่บุคคลได้เป็นอย่างดี
     5.5.2 แนวทางการเสริมสร้างแรงจูงใจในการทำงาน
          จากความรู้เกี่ยวกับเรื่องการจูงใจทั้งหมดที่กล่าวมาอาจใช้เป็นแนวทางแก่ผู้ดำเนินงาน ในการเสริมสร้างแรงจูงใจในการทำงานได้ดังนี้
          5.5.2.1 จากแนวความคิดในทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ ที่ว่าความต้องการขั้นต้นๆ มาก่อน ถ้ายังไม่ได้สนองความต้องการระดับต้นๆ ความต้องการระดับสูงขึ้นไปจะยังไม่เกิด ดังนั้นผุ้บริหารหรือผู้จัดการองค์การจึงควรศึกษาทำความเข้าใจพนักงานก่อนว่ามีความต้องการอยู่ในระดับใด แล้วนำสิ่งที่ซึ่งสนองความต้องการดังกล่าวมาเป็นสิ่งจูงใจในการทำงาน ซึ่งในแต่ละระดับขั้นตอนอาจมีต่างๆ กัน ดังตารางต่อไปนี้
ลำดับขั้นความต้องการ
สิ่งที่ต้องการ
สิ่งจูงใจ
1.ความต้องการทางกายอาหาร น้ำ การพักผ่อน อากาศ เพศ การขับถ่าย-ค่าตอบแทน ค่าจ้าง เงินเดือน วันหยุด เวลาพัก สวัสดิการ
2.ความต้องการความปลอดภัย
ความปลอดภัย ความมั่นคง การคุ้มครอง
-เงินสงเคราะห์ ความมั่นคงของงาน เงื่อนไขของหน่วยงานในการรักษาความปลอดภัย การประกันภัย ประกันชีวิต
3.ความต้องการความเป็นเจ้าของและความรัก
กลุ่ม พวกพ้อง ครอบครัว มีส่วนในสังคม ความรัก การเอาใจใส่
-สัมพันธภาพที่ดีในหน่วยงาน การทำงานเป็นทีม ไมตรีจิตของผู้ร่วมงาน
4.ความต้องการการยอมรับ
สถานะในสังคม การยกย่องชมเชย
-ตำแหน่งงาน การยอมรับจากสังคม ผลสัมฤทธิ์ในงาน โล่รางวัล คำชมเชย การได้เป็นพนักงานดีเด่น

5. ความต้องการความสำเร็จและใฝ่รู้ใฝ่เรียน
ความสามารถ ทักษะ ประสบการณ์ ความคิดสร้างสรรค์
-กิจกรรมฝึกอบรม งานที่ท้าทาย งานที่ตัดสินใจเองได้ งานที่รับผิดชอบเอง

6. ความต้องการทางสุนทรียะ
ความละเอียดอ่อนในจิตใจ ความงาม ความดี ความสุขทางใจ
-งานที่นำไปสู่สิ่งสร้างสรรค์และพัฒนาทางสังคม
7. ความต้องการความสำเร็จและความสมบูรณ์แบบในชีวิต
สัมฤทธิ์ผลในงาน ความภาคภูมิใจในตนเอง คุณธรรม ค่านิยมส่วนตน
-งานเพื่องาน งานเพื่อความดีในตัวของมันเอง
         จากตาราง จะเห็นว่าความต้องการในแต่ละลำดับขั้น นำไปสู่การทำงานเพื่อให้ได้มาในสิ่งต่างๆ แม้บางขั้นตอนจะมีความคาบเกี่ยวกันอยู่บ้าง แต่ก็พอจะมองเห็นความแตกต่างในรายละเอียดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นที่ 5-7 ซึ่งเดิมมาสโลว์ไม่แยกจากกัน จัดเป็นขั้นที่ 5 ด้วยกันทั้งหมด ต่อมาจึงแบ่งให้ละเอียดออกไป ดังนั้นในขั้นที่ 5-7 ดังกล่าว จึงอาจรวมเป็นขั้นตอนเดียวกันได้
          5.5.2.2 จากความรู้ในเรื่องการตื่นตัว ที่ว่าการตื่นตัวในระดับที่พอดีมีผลต่อการเกิดพฤติกรรมอย่างมีเป้าหมายที่ดีกว่าระดับอื่น ดังนั้นในองค์การจึงควรจัดบรรยากาศที่เหมาะสมต่อการตื่นตัวในการทำงานของพนักในระดับที่พอดี ไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการทำงาน วิธีการเพื่อให้พนักงานหรือผู้ปฏิบัติงานในภาวะตื่นตัว เช่น อาจจะเป็นการจัดสภาพแวดล้อม แสง เสียง หรือการให้พนักงานมุ่งแก้ปัญหา หรือแสวงหาช่องทางปฏิบัติงานที่เหมาะสมด้วยตนเอง ให้รับผิดชอบงานเป็นส่วนๆ และมีอำนาจตัดสินใจในงานนั้น จะดีกว่าการทำงานตามที่ได้รับคำสั่ง ซึ่งจะพบในหน่วยงานหลายแห่งที่หัวหน้าไม่เคยปล่อยให้ลูกน้องได้คิดและทำได้ด้วยตนเอง คอยรับงานและฟังคำสั่งที่หัวหน้าจะสั่งงานมาให้เท่านั้น เมื่อทำเสร็จแล้วก็นำผลงานไปมอบให้และรับงานใหม่มาทำตามที่คำสั่งอีก วิธีนี้ถ้าลูกน้องเป็นคนเก่งและมีประสิทธิภาพจะเกิดความเบื่อหน่าย ทำให้ขาดแรงจูงใจในการทำงาน
          5.5.2.3 จากความรู้ในเรื่องการคาดหวัง ที่ว่าการตั้งระดับความคาดหวังที่เป็นไปได้ พอดีและเหมาะสมสำหรับตนเอง ซึ่งมักจะคาดหวังตามค่านิยมของตน จะเป็นสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งท้าทายให้มีชีวิตชีวา และมานะพยายามให้บรรลุเป้าหมายให้ได้ ดังนั้น ผู้จัดการองค์การจึงควรสื่อสาร สร้างความเข้าใจที่ดีให้เกิดแก่พนักงาน เพื่อให้ความคาดหวังนั้นๆ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้เพื่อจะไม่เกิดความท้อแท้คับข้องใจ ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับทั้งองค์การและตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใช้วิธีหลอกลวงให้พนักงานตั้งความหวังลมๆ แล้งๆ โดยเป็นจริงไม่ได้ จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดีอย่างแน่นอน บางทีถึงขั้นทำลายองค์การให้เสียหาย หรืออาจเกิดปัญหาแก้แค้นในรูปแบบต่างๆ
          5.5.2.4 จากความรู้เรื่องในสิ่งล่อใจ ที่ว่าสิ่งล่อใจเป็นแรงจูงใจภายนอกซึ่งอาจจะเป็นวัตถุ สัญลักษณ์ คำพูด ท่าทีของผู้แวดล้อมที่ก่อให้เกิดความพึงพอใจในบุคคล ใช้เป็นการจูงใจในการทำงานได้ ดังนั้นผู้จัดการหรือเจ้าขององค์การจึงควรพยายามทำความเข้าใจพนักงาน แล้วใช้สิ่งที่เขาพอใจมาเป็นสิ่งล่อใจให้เกิดพฤติกรรมตามต้องการ อาจจะเป็นรางวัล สิ่งของ คำชม เกียรติ โล่สัญลักษณ์ การจัดให้มีการประกวดชิงรางวัลหรือชิงความเป็นหนึ่งในงานบางงาน หรือแม้แต่การตั้งสัดส่วนโบนัสประจำปีตามอัตรายอดขายหรือปริมาณงาน ก็จัดว่ามีส่วนช่วยสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้แก่พนักงานได้ ข้อควรระวังคือการเลือกสิ่งที่จะนำมาเป็นเครื่องล่อ ซึ่งจะต้องเลือกในสิ่งที่พนักงานพอใจหรืออยากได้
          5.5.2.5 จากความรู้ในเรื่องแรงจูงใจภายนอกและแรงจูงใจภายใน ที่ว่าแรงจูงใจภายในให้ผลต่อพฤติกรรมการทำงานของพนักงานที่ถาวรมากว่าแรงจูงใจภายนอก ไม่ว่าจะได้ผลตอบแทนเป็นสิ่งของหรือรางวัลหรือไม่ ก็ยังคงทำงานดีสม่ำเสมอ ดังนั้นแม้ผู้จัดการองค์การจำเป็นต้องใช้แรงจุงใจภายนอกในช่วงต้นเพื่อให้เกิดพฤติกรรมการทำงานที่ดีของพนักงาน แต่ก็ต้องพยายามสอดแทรกให้เกิดแรงจูงใจภายในไปด้วย เช่น เมื่อใช้สิ่งล่อใจมาทำให้พนักงานขยันทำงาน เมื่อขยันก็ทำให้เกิดผลสำเร็จที่ดี ความสำเร็จในงานทำให้พนักงานสนใจงาน ให้ความสำคัญกับงาน อยากทำงานให้ดีต่อไป จัดว่าเริ่มเกิดแรงจูงใจภายในแล้ว เมื่อได้รับแรงเสริมจากผู้บริหารหรือหัวหน้างานให้ตระหนักในความสำคัญของงานนั้นๆ มากขึ้น โดยชี้ให้เห็นประโยชน์และคุณค่าในการทำงานดี ก็จะส่งผลให้พนักงานมีแนวโน้มตั้งใจทำงานดีสม่ำเสมอมากขึ้น ซึ่งบางทีก็อาจต้องใช้คำขวัญ สุภาษิต คำพังเพย บทกลอนสอนใจ เข้ามาช่วยเสริมสร้างแรงจูงใจภายในให้เกิดแก่พนักงานดังกล่าว
          5.5.2.6 จากแนวคิดในทฤษฎี X ของแมคเกรเกอร์ ที่มองมนุษย์ว่าไม่ดีไม่ชอบทำงาน ถ้าจะทำงานก็ต่อเมื่อมีคนควบคุม สั่งการ และข่มขู่ลงโทษถ้าไม่ทำงาน แม้แนวความคิดนี้จะไม่สู้เป็นที่ยอมรับแพร่หลายนัก แต่ในสภาพความเป็นจริงก็มักพบว่ามีคนส่วนหนึ่งที่เป็นเช่นนี้ ดังนั้นการบังคับควบคุมและลงโทษก็อาจยังเป็นมาตรการที่จำเป็นต้องมีในหน่วยงาน แต่นักจิตวิทยาส่วนใหญ่ก็ยังเห็นว่า ก่อนใช้ควรคิดให้ดี ถ้ารุนแรงก็ก่อให้เกิดปัญหาประท้วงหรืออื่นๆ ในหน่วยงาน หรือแม้ไม่รุนแรงก็ให้ผลลบต่อความรู้สึกของพนักงานต่อองค์การ
          5.5.2.7 จากแนวความคิดทฤษฎี Y ของแมคเกรเกอร์ ที่ว่ามนุษย์มีความดีมานะพยายาม ตั้งใจทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ มีความรับผิดชอบ มีความสามารถมีความต้องการเจริญก้าวหน้า และชอบอยู่เป็นพวก ดังนั้น ผุ้จัดการองค์การจึงควรสนใจสนับสนุนให้พนักงานได้ทำงานเป็นทีม ให้ช่วยเหลือกัน ให้รับผิดชอบงานเป็นชิ้นเป็นอัน ให้มีโอกาสและตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง และมีอิสระในการวางแผนงาน เพื่อให้ได้รับความสำเร็จและเจริญก้าวหน้าตามทิศทางที่ควรเป็นของแต่ละบุคคล จะเป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับพนักงานได้อีกส่วนหนึ่ง และช่วยให้พนักงานเกิดความรู้สึกที่ดีต่อองค์การ
          5.5.2.8 จากการศึกษา “ปัจจัยด้านการบำรุงรักษา” ในทฤษฎีสองปัจจัยของเฮอร์เบอร์ก ซึ่งเป็นปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมของงาน แม้ผลการศึกษาจะพบว่าไม่ถึงกับทำให้เกิดแรงจูงใจในการทำงาน แต่ถ้าไม่จัดให้มีในหน่วยงานก็จะพบว่าพนักงานไม่พอใจ จึงเป็นแนวคิดแก่ผู้จัดการองค์การที่ต้องใส่ใจ ให้ความสำคัญ และจัดให้มีปัจจัยด้านการบำรุงรักษาในองค์การ ทั้งในด้านการนิเทศงาน นโยบายและการบริหารองค์การ ภาวะการทำงาน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร่วมงาน ผู้ปฏิบัติงานกับผู้บริหาร ชีวิตส่วนตัวที่ดี และสภาพการทำงาน การจัดให้มีปัจจัยดังกล่าวเพื่อให้ทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกพอใจในงาน
          5.5.2.9 จากการศึกษา “ปัจจัยด้านตัวกระตุ้น” ในทฤษฎีสองปัจัยของเฮอร์ซเบอร์ก ซึ่งเป็นปัจจัยด้านงาน ถ้าจัดให้มีขึ้นจะส่งผลให้พนักงานพึงพอใจ ปัจจัยด้านงานดังกล่าว ได้แก่ ความสัมฤทธิ์ผล การยอมรับนับถือจากคนอื่น ความน่าสนใจของงาน การได้มีโอกาสรับผิดชอบ โอกาสก้าวหน้าและโอกาสให้พนักงานตัดสินใจ รับผิดชอบในงาน ให้ทำงานร่วมกัน หรือพัฒนางานร่วมกัน เช่น อาจตั้งกลุ่มสร้างคุณภาพงาน ให้อิสระในการทำงาน ให้มีโอกาสรับทราบผลงานสม่ำเสมอเพื่อแสดงการยอมรับและให้ได้มีโอกาสลองงานใหม่ๆ รวมทั้งมอบงานพิเศษบางด้านให้ทำ ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าของพนักงาน
          5.5.2.10 จากผลการศึกษาเรื่องแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ของแมคคลีแลนด์ ซึ่งเน้นจุดสำคัญที่ความต้องการความสำเร็จของบุคคลโดยบุคคลมิได้หวังรางวัลตอบแทนจากความสำเร็จนั้น หากแต่มีความสุขความพอใจกับผลงานที่สำเร็จได้ด้วยดี จึงเป็นแนวปฏิบัติแก้ผู้จัดการองค์การ ในการมอบหมางานที่เปิดโอกาสให้เขารับผิดชอบในงานนั้นให้มากที่สุด ผู้บริหารหลีกเลี่ยงการเข้าไปยุ่งเกี่ยว ให้ได้ทำงานตามระดับความสามารถ คือไม่ง่ายเกินไปหรือยากเกินไป และให้มีการสื่อสารเพื่อให้เจ้าตัวรับทราบผลงานโดยสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อให้พนักงานนั้นๆ มั่นใจในความมั่นคงของความก้าวหน้าในงานของตนเอง ความมั่นคงของความก้าวหน้าในงาน ในที่นี้มิได้หมายถึงตำแหน่งงานหรือค่าตอบแทน แต่หมายถึงผลสัมฤทธิ์ของงานที่เป็นไปโดยต่อเนื่อง
          5.5.2.11 จากทฤษฎีแรงจูงใจไร้สำนึกของซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่ว่าแรงจูงใจไร้สำนึกเป็นสิ่งผลักดันให้เกิดพฤติกรรม แม้แนวคิดจากทฤษฎีดังกล่าวไม่สามารถนำมาเป็นแนวทางสร้างแรงจูงใจให้แก่พนักงานได้ เพราะแรงจูงใจไร้สำนึกเป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล แต่ก็ช่วยให้ผู้จัดการองค์การเกิดความเข้าใจในพฤติกรรมที่เกิดจากแรงจูงใจไร้สำนึกของพนักงานได้บ้างไม่มากก็น้อย ถ้าแรงจูงใจไร้สำนึกมีอยู่จริงในบุคคล
          5.5.2.12 จากทฤษฎีการจูงใจที่เนื่องมาจากสิ่งเร้าของกลุ่มพฤติกรรมนิยม ที่เห็นว่าควรใช้สิ่งเร้าที่เหมาะสมมาทำให้บุคคลแสดงพฤติกรรม และเมื่อเกิดพฤติกรรมที่พึงปรารถนาแล้วก็ให้แรงเสริมกับพฤติกรรมที่พึงปรารถนานั้นเพื่อให้แสดงพฤติกรรมที่ดีดังกล่าวอีกในเวลาต่อไป เป็นแนวความคิดแก่ผู้บริหารและผู้จัดการองค์การ ในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมที่จะกระตุ้นให้บุคคลทำงาน และเมื่อทำงานได้รับผลดีก็ควรมีระบบการให้แรงเสริมในลักษณะต่างๆ ตามที่พนักงานนั้นๆ ต้องการ เพื่อสนับสนุนให้มีพฤติกรรมการทำงานที่ดีโดยสม่ำเสมอต่อไป
          แนวทางการสร้างเสริมแรงจูงใจในการทำงานดังกล่าวมาทั้ง 12 ประการ ซึ่งแยกกล่าวตามแนวคิดและการศึกษาตามหัวเรื่องทฤษฎี และผลการศึกษาของนักจิตวิทยาและนักวิจัยพฤติกรรมศาสตร์แต่ละด้าน จะเห็นได้ว่ามีบางแนวทางต่างกัน บางแนวทางใช้หลักการเดียวกันตามการศึกษาแล้ข้อค้นพบที่ได้ เนื่องจากเป็นการศึกษาธรรมชาติการจูงใจในมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งเป็นภาวะปกติที่จะได้ข้อค้นพบทั้งส่วนที่เหมือนกันและต่างกัน เพราะมนุษย์มีทั้งลักษณะบางประการที่เป็นตัวร่วมที่คล้ายคลึงกัน และลักษณะบางประการที่แตกต่างกันไป ในการสร้างแรงจูงใจในการทำงานแก่บุคคลจึงต้องอาศัยหลักการและทฤษฎีอันเป็นข้อค้นพบจากบุคคลส่วนใหญ่ที่คล้ายคลึงกัน กับทั้บงต้องศึกษาลักษณะของบุคคลเฉพาะรายที่เป็นความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อเลือกใช้กลวิธีที่เหมาะสมสอดคล้องกับบุคคลนั้น นอกจากนั้น บางครั้งยังพบว่ากลวิธีในการสร้างแรงจูงใจต่างๆ ที่ศึกษามามากมาย ไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีใดๆ ก็ยังอาจไม่ได้ผล อาจต้องศึกษาทดลองด้วยตนเองจนกว่าจะพบวิธีที่ถูกต้องเหมาะสมในการสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้เกิดแก่บุคคลเฉพาะรายบางคน
2.2  จิตวิทยาการจัดการองค์การอุตสาหกรรม

จิตวิทยาการจัดองค์กรอุตสาหกรรมได้รับความนิยมเป็นที่ยอมรับในวงการ อุตสาหกรรมในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  การพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมของประเทศ มีผลมาจากการนำจิตวิทยาการจัดองค์กรอุตสาหกรรมมาใช้ทั้งสิ้น      การให้ความรู้ทางจิตวิทยาจัดองค์กรอุตสาหกรรมที่เหมาะสมทันสมัย จะทำให้บุคลากรขององค์การสามารถผลิตสินค้าได้ดีมีคุณภาพตามที่องค์กรและลูกค้าต้องการ

1.  บทบาทของจิตวิทยาการจัดองค์กรอุตสาหกรรม
ในสหรัฐอเมริกา นักจิตวิทยาสาขาต่าง ๆ รวมทั้งนักจิตวิทยาอุตสาหกรรมองค์กรได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสาธารณชน  ในฐานะที่เป็นมือวิชาชีพ (Professional) ที่มีบทบาทสำคัญต่อสังคมทุกๆ ด้านในองค์กรอุตสาหกรรมหรือ  หน่วยงานของรัฐจะมีตำแหน่งนักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กรโดยเฉพาะเนื่องจากกฎหมายและข้อ บังคับเกี่ยวกับการจ้างงานของสหรัฐอเมริกาได้ห้ามมิให้นายจ้างกีดกันผู้สมัครงานหรือผู้ทำงานด้วยการปฏิเสธการจ้างงานหรือการเลื่อนตำแหน่งเนื่องมาจากการแบ่งสีผิว  เชื้อชาติ  เพศ  ศาสนา ฯลฯ  ดังนั้น  นายจ้างจึงมีภาระที่จะต้องพิสูจน์ (Burden of Proofความเหมาะสมของเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการประเมินบุคลากร  ผู้ที่ทำหน้าที่นี้ได้ดี คือ  นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กรนั่นเอง
นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ เหมาะสมที่จะทำงานด้านอื่น ๆ อีกหลายด้านให้กับองค์กร สามารถสรุปบทบาทและภาวะหน้าที่ของนักจิตวิทยาอุตสาหกรรมองค์การได้ดังนี้
1)  การคัดเลือกและการจัดการบุคลากร (Personnel Selection and Placement)
1.1  การพัฒนาโครงการสำหรับการคัดเลือกบุคลากร
1.2  การจัดการบุคลากรสำหรับตำแหน่งงานต่าง ๆ อย่างเหมาะสมที่สุด
1.3  การสำรวจระบุศักยภาพเชิงการจัดการของบุคลากร
2)  การพัฒนาองค์กร (Organizational Development)
2.1   การวิเคราะห์โครงสร้างองค์กร
2.2   การเพิ่มระดับความพึงพอใจและประสิทธิภาพของบุคคลในหน่วยการทำงานถึงระดับสูง
2.3  การช่วยเหลือสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงองค์กร
3)  การฝึกอบรมและการพัฒนา (Training and Development)
3.1  การระบุความต้องการตามความจำเป็นในการฝึกอบรมและพัฒนา
3.2  การพัฒนาการจัดโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะเทคนิคการจัดการ และการบังคับบัญชา
3.3  การประเมินผลประสิทธิภาพของโครงการฝึกอบรมและพัฒนา    โดยใช้เกณฑ์การเพิ่มผลผลิต (Productivity) และความพึงพอใจ
4)  การวิจัยบุคลากร (Personnel Research)
4.1  การพัฒนาเครื่องมือทดสอบสำหรับการคัดเลือก การจัดวาง การจำแนก  และการเลื่อนตำแหน่งของบุคลากร
4.2  การทดสอบความแม่นตรงของเครื่องมือต่าง ๆ
4.3  การวิเคราะห์งาน
5)  การพัฒนาคุณภาพชีวิตในการทำงาน (Quality of Work Life Development)
5.1  การเพิ่มพูนผลผลิตของพนักงานแต่ละบุคคล
5.2  การตรวจระบุปัจจัยซึ่งมีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจในการทำงาน
5.3  การออกแบบงานใหม่เพื่อเป็นงานที่ดีมีความเหมาะสมกับบุคคลมากขึ้น

6)  จิตวิทยาผู้บริโภค (Consumer Psychology)
6.1  การประเมินความชอบ - ไม่ชอบ ของผู้บริโภค
6.2  การสำรวจปฏิกิริยาของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าใหม่
6.3  การพัฒนากลยุทธ์การตลาด
7)  จิตวิทยาวิศวกรรม (Engineering Psychology)
7.1  การออกแบบสภาพแวดล้อมในการทำงาน
7.2  การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานกับเครื่องจักรของบุคลากร
7.3  การพัฒนาเทคโนโลยีด้านระบบและการบังคับบัญชา

บทบาทของจิตวิทยาอุตสาหกรรมกับการบริหารการเปลี่ยนแปลงในฐานะของ Change Agent”  ในองค์การ คือ ต้องพยายามทำให้ทุกคนในองค์การสามารถรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างเต็มใจ มีส่วนร่วมและเป็นแนวร่วมที่เห็นถึงความสำคัญประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง เป็นแนวร่วมผลักดันให้เกิดความเข้าใจพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยไม่เกิดความเครียดซึ่งจะส่งผลต่อชีวิตส่วนตัวของบุคคลหรือเกิดการต่อต้านและกลายเป็นปัญหาในองค์การต่อไป
การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติและเกิดขึ้นอยู่ทุกวันความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน  ในองค์การอุตสาหกรรมหรือบริษัทต่าง ๆ นั้น  ความเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ  ดังนี้
1)  ธรรมชาติของคน พบว่า ในหลายองค์กรปัจจุบันมีลักษณะของวัฒนธรรมข้ามชาติ คือ มีหลากหลายชาติมารวมกันอยู่จะทำให้คนที่ทำงานอยู่ในองค์การนั้น ต้องปรับตัวเข้าหากัน เพศที่ต่างกัน อายุที่แตกต่างกัน ทักษะที่แตกต่างกัน ล้วนทำให้องค์กรต้องคอยปรับเปลี่ยนนโยบายต่าง ๆ ตลอดเวลาเพื่อสามารถดึงดูดและรักษากลุ่มพนักงานที่มีความแตกต่างกันให้สามารถทำงานร่วมกันในองค์กรได้อย่างมีความสุข
2)  เทคโนโลยีใหม่  การมีอุปกรณ์ใหม่  มีระบบคอมพิวเตอร์ใหม่  มีระบบการทำงานใหม่ ๆ เช่น การนำระบบ Reengineering  มาใช้ในการทำงานส่งผลให้สายการควบคุมบังคับบัญชาในองค์การ มีลักษณะกว้างขึ้นและสั้นลง ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนตำแหน่งงานการจัดการฝึกอบรม เพื่อยกระดับความสามารถของพนักงานให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีเหล่านั้น
3)  สภาพเศรษฐกิจ ภาวะตกต่ำในตลาดหุ้น อัตราดอกเบี้ยและค่าเงินตราต่างประเทศ ที่มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตลอดเวลาส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น เช่น สถาบันการเงินต่างในประเทศที่ปิดตัวลง มีการปลดพนักงานจำนวนมาก หรือการซบเซาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  อันเนื่องจากความล้มเหลวทางการเงิน
4)  คู่แข่งขัน จะพบว่าคู่แข่งขันในธุรกิจได้เปลี่ยนไปการแข่งขันปัจจุบันเป็นการแข่งขันในตลาดโลกคู่แข่งขันบางรายมีการรวมธุรกิจเข้าด้วยกันกลายเป็นบริษัทที่มีศักยภาพสูงขึ้นตลาดการแข่งขันที่สูงขึ้นหมายถึงจำเป็นจะต้องพัฒนาตลอดเวลาพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ๆ เพื่อต่อสู่กับคู่แข่งขันได้อย่างทันท่วงที  พนักงานต้องมีความยืดหยุ่น และสามารถตอบสนองต่อสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็ว
5)  แนวโน้มทางสังคม    เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กลยุทธ์ทางธุรกิจเปลี่ยนไปพบว่า  คนในสังคมปัจจุบันจะแต่งงานช้าลง คนโสดมีมากขึ้น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดและรูปแบบของบ้านที่จะผลิตออกมาสู่ตลาดต้องมุ่งตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้ การที่คนอยู่คนเดียวมากขึ้นทำให้ขนาดของผลิตภัณฑ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในบ้านต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับการอยู่คนเดียว เห็นได้ชัดจากหม้อหุงข้าวขนาดเล็ก ๆ
6)  ระบบการเมืองในโลก  การล่มสลายของโซเวียต การทำลายกำแพงเบอลิน และการรวมตัวกันอีกครั้งของเยอรมัน การที่อิรักบุกคูเวต การเปิดประเทศของจีน  สงครามในอิรัก  ส่งผลต่อการทำธุรกิจในตลาดโลกทั้งสิ้น  เห็นได้จากการที่โรงงานหลายแห่งที่ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยของเราต้องปิดตัวลง เพราะตลาดแรงงานที่ประเทศจีนมีราคาต่ำกว่า ส่งผลให้เกิดภาวะการณ์ว่างงานในประเทศไทย


2.   ความต้องการและการประยุกต์ใช้จิตวิทยาการจัดองค์กรอุตสาหกรรม 
องค์การต่าง ๆ ตั้งขึ้นมาก็เพื่อวัตถุประสงค์ต่างกัน  เช่น ธุรกิจอุตสาหกรรม  มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน  คือ  เพื่อผลิตสินค้าหรือการบริการเพื่อผลกำไร  ดังนั้นองค์การธุรกิจอุตสาหกรรมจึงต้องมีการปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและการบริการอยู่ตลอดเวลา เพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้และผู้บริโภค ต้องมีการปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและการบริการอยู่ตลอดเวลาเพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้และผู้บริโภค  และการที่จะทำอย่างนี้ได้ องค์การจะต้องคำนึงถึงปัญหาและอุปสรรคทางจิตวิทยาที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับองค์กร คือ
1)  ปัญหาอุตสาหกรรมสมัยใหม่  สมัยก่อนองค์การธุรกิจอุตสาหกรรมส่วนมากจะมีขนาดเล็ก การสื่อสารภายในองค์กรระหว่างผู้บริหารกับคนงานไม่ค่อยมีปัญหามากนัก ปัจจุบันองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมมีขนาดใหญ่ขึ้น บางองค์การได้ขยายออกไปตามเมืองใหญ่ ๆ  หรือมีสาขาในต่างประเทศ เช่น  ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด องค์กร เหล่านี้มีพนักงานเป็นจำนวนมากเป็นพันคนขึ้นไปจนถึงหลายพันคน  ปัญหาย่อมเกิดขึ้นแน่นอน  เพราะความสลับซับซ้อนขององค์กรนั่นเองจึงทำให้องค์กรจะต้องจัดระบบโครงสร้างและมีขอบข่ายการสั่งงานอย่างเป็นระบบอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบจะต้องกำหนดแน่นอน องค์กรเช่นนี้จึงเป็นองค์กรที่ขาดระบบมิได้เป็นไปตามที่คนงานใช้หลักมนุษยสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน  โครงสร้างขององค์กรไม่ว่าจะมีรูปแบบอย่างไรก็ตาม ในทางจิตวิทยาแล้วจะมีปัญหาคล้ายคลึงกัน  แต่ความพึงพอใจในงานของคนงานจะไม่มีความแน่นอน เพราะความพึงพอใจจะมีตัวแปรเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย เช่น  โครงสร้างขององค์กร นโยบายการบริหารงาน การสื่อสาร ถ้าองค์กรมีโครงสร้างแบบงานหลักและงานที่ปรึกษา  (Line  and  Staff  Organization)   เป็นองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะมีผู้บริหาร แบบ คือ  แบบสายงาน (Line)  และฝ่ายบุคคล (Staff)  ก็จะทำให้ความคิดของผู้บริหารทั้ง 2 เกี่ยวกับการสรรหาบุคลากรเพื่อรับการบรรจุเข้าทำงาน ผู้บริหารด้านบุคลากรอาจจะเกิดความไม่พึงพอใจในการทำงาน เพราะเขาไม่สามารถจะใช้อำนาจในการตัดสินใจได้ว่าจะบรรจุใครเข้าทำงาน  ในทางปฏิบัติผู้บริหารในสายงานจะมีอำนาจในการตัดสินใจ    ขณะเดียวกันผู้บริหาร
ในสายงานก็ต้องการคำแนะนำจากฝ่ายบุคคล  เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ  แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายมีความคิดเห็นตรงกัน ฝ่ายบุคคลก็จะยอมรับอำนาจการตัดสินใจของฝ่ายสายงานว่าถูกต้องแล้ว ถ้าทั้งสองฝ่ายมีความคิดเห็นไม่ตรงกันและฝ่ายสายงานบรรจุคนที่ฝ่ายบุคคลไม่เห็นด้วย ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งและความไม่พอใจก็จะเกิดขึ้นได้
2)  ปัญหาสายงานความรับผิดชอบในองค์กรทุกองค์กร จะมีสายงานความรับผิดชอบและในงานแต่ละหน้าที่  ไม่ควรใช้คนรับผิดชอบมากเกินไปหรือให้ทุกคนมีหน้าที่รายงานต่อผู้บริหาร เพราะถ้ามากเกินไปจะทำให้เกิดความสับสนและยุ่งยากต่อการบริหารงาน เช่น  องค์การใหญ่ ๆ  อาจจะมีนักจิตวิทยาอุตสาหกรรมทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบุคลากร (Human Factors Specialist)  ทำวิจัยเกี่ยวกับผู้บริโภค (Consumer Researcher) หรือมีนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ระดับคนงานในองค์กร ถ้าเป็นองค์การขนาดกลางผู้บริหารจะทำหน้าที่ควบคุมหรือกำกับดูแลเกี่ยวกับการพัฒนาผลผลิต  การจัดจำหน่ายแทนที่จะมีบุคคลอื่นเป็นผู้ควบคุม
3)  ปัญหาโครงสร้างองค์กร  โครงสร้างองค์การไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ตามจะมีปัญหาทั้งสิ้นถ้าหากองค์กรขาดการประสานงานที่ดี  ถ้าเป็นองค์การขนาดกลางและใหญ่ จะมีปัญหามาก กว่าองค์กรขนาดเล็ก เพราะองค์กรขนาดกลางและใหญ่จะขาดการยืดหยุ่น (Flexibility)ในการบริหารงานอย่างมาก จะต้องทำตามกฎระเบียบที่วางไว้ เมื่อเกิดปัญหา       ผู้ควบคุมงานในระดับต่าง ๆ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้ตรงกับความต้องการของผู้บริหารระดับสูงได้ เนื่องจากองค์กรไม่มีความยืดหยุ่นหรือมีก็ไม่เพียงพอ เช่น การขาดแคลนวัสดุ เครื่องจักรชำรุดหรือปัญหาการจัดจำหน่าย ซึ่งเกิดจากคน (Human) ทั้งสิ้น เป็นปัญหาทางจิตวิทยาองค์กรสมัยใหม่ พยายามนำเอาการวิเคราะห์ระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระบบการควบคุมติดต่อสื่อสาร    ตลอดจนการทำงานโดยอัตโนมัติ (Automation) มาช่วยในการดำเนินกิจการต่าง ๆ  ในองค์การเพื่อนำมาใช้ในการควบคุม และแก้ปัญหาต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเกี่ยวกับแรงงานมนุษย์
4) ปัญหาขนาดขององค์กร  เมื่อพิจารณาถึงขนาดขององค์กร  องค์กรจะมีปัญหาแตกต่างกัน เช่น องค์กรขนาดใหญ่จะมีความล่าช้าในการตัดสินใจ  ปัญหาความพึงพอใจ  ปัญหาการใช้อำนาจในการสั่งการ  เพราะองค์กรขนาดใหญ่จะมีคนงานมากนั่นเอง หรือบางครั้งการผลิตและผลกำไรขององค์กรขนาดใหญ่จะต่ำกว่าองค์กรขนาดเล็ก  หรือคนงานในองค์กรขนาดเล็กจะมีความพึงพอใจมากกว่าองค์กรขนาดใหญ่เพราะคนงานรู้จักกันและกัน
5)  ปัญหาระหว่างความต้องการของผู้บริหาร       และความต้องการของคนงาน  ความต้องการระหว่างผู้บริหารและความต้องการของคนงานที่มีความแตกต่างกัน ก็จะทำให้องค์กรขาดดุลยภาพ
6)  ปัญหาการคัดเลือกฝึกอบรมและการบรรจุพนักงาน   นักจิตวิทยาจะต้องพิจารณาดูว่าองค์กรอุตสาหกรรมควรจะมีอะไรบ้างในปัจจุบันและอนาคต  เพื่อจะช่วยแก้ไขปัญหาอันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างบุคคลในองค์กร   ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาอาจจะต้องใช้จิตวิทยาบุคคลและจิตวิทยาวิศวกรรมมาใช้ในการจัดการทรัพยากรบุคคล เช่น การคัดเลือก   การฝึกอบรมและการบรรจุพนักงานที่มีประสิทธิภาพ     เพื่อองค์การจะได้เป็นองค์การที่มีประสิทธิภาพในอนาคต
7)  ปัญหาการประสานงานระหว่างแผนกต่าง ๆ ในองค์การ องค์กรอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะแบ่งงานและจัดสายงานตามลักษณะงาน        ดังนั้น การประสานงานของกลุ่มต่าง ๆ ในงานอุตสาหกรรมจึงเป็นปัญหาทางจิตวิทยาเพราะหน่วยงานต่าง ๆ เป็นที่รวมของคนงานและคนงานแต่ละคนมีเจตคติ การศึกษา  ความรู้  ความสนใจ  ความถนัด อาจจะเหมือนกันหรือแตกต่างกัน  สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาระหว่างคนงานทั้งสิ้นจะกลายเป็นปัญหาขององค์การต่อไป เพราะฉะนั้นผู้บริหารควรหาเทคนิควิธีที่จะทำให้คนงานในองค์การเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
8)  ปัญหาความอยู่รอดขององค์กร  องค์กรอยู่รอดหรือไม่นั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือการจัดระบบการสรรหาบุคคล การสรรหาทรัพยากร การสรรหาตลาด การสรรหาลูกค้าให้ถูกต้อง และเหมาะสมตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่หรือนำความคิดใหม่ ๆ     มาใช้ในการปรับปรุงการผลิตเพราะสิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้เป็นหลักการทางจิตวิทยาทั้งสิ้นที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดได้
9) ปัญหาการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้  ถ้าองค์การได้นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ  มาใช้เพื่อการผลิตสินค้าหรือปรับปรุงงาน  องค์กรมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกอบรมงานเพื่อให้คนงานสามารถทำงานกับเครื่องจักรใหม่ ๆ ได้  ซึ่งเป็นหลักทางจิตวิทยาที่จะทำให้คนงานได้พัฒนาตนเองในด้านความรู้และความสามารถที่จะทำงานในองค์กรนั้น ๆ ต่อไป
ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นเป็นปัญหาทางจิตวิทยาที่องค์กรต่าง ๆ  จำเป็นจะต้องให้ความสนใจและหาทางแก้ไขเพื่อที่จะทำให้คนงานมีขวัญกำลังใจ  มีความพึงพอใจ  มีความมั่นคงในการทำงาน  มีความก้าวหน้าในการทำงานหรือมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร ฯลฯ   เพราะถ้าคนงานเกิดทัศนคติที่ดีต่อองค์กรแล้วก็จะทำให้องค์การบรรลุวัตถุประสงค์ได้  คน (People) จึงนับว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญและเป็นศูนย์กลางของการบริหารเพราะการบริหารงานใด ๆ จะบรรลุ วัตถุประสงค์ได้นั้น ย่อมต้องอาศัยคนเป็นผู้กระทำการต้องเข้าใจถึงลักษณะความรู้สึก ความต้องการและการประสานงาน จึงนับว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้การบริหารองค์กรเป็นไปโดยราบรื่น  คนในฐานะที่เป็นปัจจัยในการบริหารองค์กรในทางปฏิบัติมักจะพิจารณาพฤติกรรมของคนด้วยกัน 3 ลักษณะ  คือ (1) ศึกษาพฤติกรรมของคนแต่ละคน   (2) พฤติกรรมของกลุ่ม  และ (3) พฤติกรรมของผู้นำทั้งนี้ เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยพื้นฐานทางจิตวิทยาต่าง ๆ  ที่มีผลต่อพฤติกรรมของคน คือ ความสามารถ ความถนัด  ความคาดหมาย ความเข้าใจ  การรับรู้  ทัศนคติ  ค่านิยม  ผลกระทบของกลุ่มที่มีต่อพฤติกรรมของคนตลอดจนประสิทธิภาพของผู้นำการชักจูงพฤติกรรม สร้างทีมงานที่ดีให้เกิดขึ้นในองค์กร การใช้หลักการทางจิตวิทยาจึงมีความสัมพันธ์กับองค์กรทุกองค์กร 

3.  ปัญหาของจิตวิทยาการจัดองค์กรอุตสาหกรรม 
จิตวิทยาเกี่ยวข้องโดยตรงกับอุตสาหกรรมเพราะจิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมมนุษย์ในงานอุตสาหกรรม จะประกอบไปด้วยคนจำนวนมากร่วมกันทำงาน  แต่ละบุคคลมีพฤติกรรมเฉพาะอย่างของแต่ละคน  การร่วมกันทำงานที่มีคนเป็นจำนวนมากก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง  การกระทบกระทั่งกันเป็นผลทำให้การทำงานติดขัดและอาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ ความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์อย่างถูกต้องและการจัดการอย่างจริงจัง จะทำให้ปัญหาดังกล่าวลดลง  การทำงานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น  คนมีความสุขมากขึ้น  วิชาจิตวิทยาจึงมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาในโรงงานอุตสาหกรรมได้หลายประเด็น คือ
1) นักจิตวิทยามีเครื่องมือในการคัดเลือกคนที่เหมาะสมเข้าทำงานตามความถนัด ซึ่งในโรงงานใดถ้าได้คนที่มีความพร้อม มีความถนัดในเรื่องงานนั้น ๆ  ก็ไม่ต้องเสียเวลาฝึกหัดและถ้าคนได้ทำงานตามความถนัดของตนย่อมเกิดความพึงพอใจและจะพยายามทำงานให้ดีที่สุด  ปัญหาความพึงพอใจในงานมีองค์ประกอบมากมาย และความพึงพอใจของคนงานแต่ละคนแตกต่างกัน   หากคนงานไม่พึงพอใจในการทำงานจะส่งผลกระทบต่อองค์การนักจิตวิทยา จึงต้องสังเกตและวัดความรู้สึกไม่พึงพอใจในการทำงานและหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดปัญหาความขัดแย้ง การกระทบกระทั่งกัน เป็นผลทำให้การทำงานติดขัดและอาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ ความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์อย่างถูกต้องและการจัดการอย่างจริงจัง  จะทำให้ปัญหาดังกล่าวลดลง การทำงานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น คนมีความสุขมากขึ้น วิชาจิตวิทยามีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาในโรงงานอุตสาหกรรมได้หลายประเด็น คือ
2) เนื่องจากนักจิตวิทยามีเครื่องมือตามที่กล่าวข้างต้น    ปัญหาการจัดหาคนให้เหมาะสมกับงาน  การคัดเลือกคนให้เหมาะสมกับงาน ต้องวิเคราะห์งานและวิเคราะห์คน  เพื่อให้ได้คนที่มีความรู้ความสามารถตรงตามที่องค์กรต้องการ จึงต้องให้คำปรึกษาการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งบุคลากรให้เหมาะสมตามความสามารถได้
3) นักจิตวิทยาสามารถช่วยเหลือปัญหาทางสุขภาพจิต    ความเครียดในการทำงาน   ความเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจ  นักจิตวิทยาต้องตรวจสอบวัดมาตรฐาน และกำจัดหรือลดให้เหลือน้อยที่สุดด้วยการสำรวจสุขภาพจิตของพนักงาน การให้คำปรึกษาสามารถลดความเครียดทางจิตได้ นักจิตวิทยาสามารถช่วยในการจัดโปรแกรมเพื่อลดความเครียดของพนักงานและป้องกันปัญหาความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ถ้าใช้จิตวิทยาในการทำงานได้อย่างสร้างสรร จะมีระบบการสื่อสารที่ดีต่อกัน เข้าใจการทำงานร่วมกัน เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น มีหลักในการบริหารสามารถใช้ความรู้ในการจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้นซึ่งเป็นการลดปัญหาในการทำงานให้น้อยลง
4) ปัญหาการเพิ่มผลผลิต   ซึ่งนักจิตวิทยาต้องเข้าไปศึกษาปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและคนงานมีความสุขในการทำงาน การใช้หลักจิตวิทยาที่ถูกต้องในหน่วยงาน/องค์กร จะช่วยลดปัญหาต่าง ๆ ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ทำให้ทุกคนทำงานอย่างมีความสุข จิตวิทยาจึงเปรียบเสมือนน้ำมันหล่อลื่นที่จะทำให้การทำงานในองค์การมีประสิทธิผลสูงสุด