วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

2.2  จิตวิทยาการจัดการองค์การอุตสาหกรรม

จิตวิทยาการจัดองค์กรอุตสาหกรรมได้รับความนิยมเป็นที่ยอมรับในวงการ อุตสาหกรรมในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  การพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมของประเทศ มีผลมาจากการนำจิตวิทยาการจัดองค์กรอุตสาหกรรมมาใช้ทั้งสิ้น      การให้ความรู้ทางจิตวิทยาจัดองค์กรอุตสาหกรรมที่เหมาะสมทันสมัย จะทำให้บุคลากรขององค์การสามารถผลิตสินค้าได้ดีมีคุณภาพตามที่องค์กรและลูกค้าต้องการ

1.  บทบาทของจิตวิทยาการจัดองค์กรอุตสาหกรรม
ในสหรัฐอเมริกา นักจิตวิทยาสาขาต่าง ๆ รวมทั้งนักจิตวิทยาอุตสาหกรรมองค์กรได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสาธารณชน  ในฐานะที่เป็นมือวิชาชีพ (Professional) ที่มีบทบาทสำคัญต่อสังคมทุกๆ ด้านในองค์กรอุตสาหกรรมหรือ  หน่วยงานของรัฐจะมีตำแหน่งนักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กรโดยเฉพาะเนื่องจากกฎหมายและข้อ บังคับเกี่ยวกับการจ้างงานของสหรัฐอเมริกาได้ห้ามมิให้นายจ้างกีดกันผู้สมัครงานหรือผู้ทำงานด้วยการปฏิเสธการจ้างงานหรือการเลื่อนตำแหน่งเนื่องมาจากการแบ่งสีผิว  เชื้อชาติ  เพศ  ศาสนา ฯลฯ  ดังนั้น  นายจ้างจึงมีภาระที่จะต้องพิสูจน์ (Burden of Proofความเหมาะสมของเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการประเมินบุคลากร  ผู้ที่ทำหน้าที่นี้ได้ดี คือ  นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กรนั่นเอง
นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ เหมาะสมที่จะทำงานด้านอื่น ๆ อีกหลายด้านให้กับองค์กร สามารถสรุปบทบาทและภาวะหน้าที่ของนักจิตวิทยาอุตสาหกรรมองค์การได้ดังนี้
1)  การคัดเลือกและการจัดการบุคลากร (Personnel Selection and Placement)
1.1  การพัฒนาโครงการสำหรับการคัดเลือกบุคลากร
1.2  การจัดการบุคลากรสำหรับตำแหน่งงานต่าง ๆ อย่างเหมาะสมที่สุด
1.3  การสำรวจระบุศักยภาพเชิงการจัดการของบุคลากร
2)  การพัฒนาองค์กร (Organizational Development)
2.1   การวิเคราะห์โครงสร้างองค์กร
2.2   การเพิ่มระดับความพึงพอใจและประสิทธิภาพของบุคคลในหน่วยการทำงานถึงระดับสูง
2.3  การช่วยเหลือสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงองค์กร
3)  การฝึกอบรมและการพัฒนา (Training and Development)
3.1  การระบุความต้องการตามความจำเป็นในการฝึกอบรมและพัฒนา
3.2  การพัฒนาการจัดโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะเทคนิคการจัดการ และการบังคับบัญชา
3.3  การประเมินผลประสิทธิภาพของโครงการฝึกอบรมและพัฒนา    โดยใช้เกณฑ์การเพิ่มผลผลิต (Productivity) และความพึงพอใจ
4)  การวิจัยบุคลากร (Personnel Research)
4.1  การพัฒนาเครื่องมือทดสอบสำหรับการคัดเลือก การจัดวาง การจำแนก  และการเลื่อนตำแหน่งของบุคลากร
4.2  การทดสอบความแม่นตรงของเครื่องมือต่าง ๆ
4.3  การวิเคราะห์งาน
5)  การพัฒนาคุณภาพชีวิตในการทำงาน (Quality of Work Life Development)
5.1  การเพิ่มพูนผลผลิตของพนักงานแต่ละบุคคล
5.2  การตรวจระบุปัจจัยซึ่งมีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจในการทำงาน
5.3  การออกแบบงานใหม่เพื่อเป็นงานที่ดีมีความเหมาะสมกับบุคคลมากขึ้น

6)  จิตวิทยาผู้บริโภค (Consumer Psychology)
6.1  การประเมินความชอบ - ไม่ชอบ ของผู้บริโภค
6.2  การสำรวจปฏิกิริยาของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าใหม่
6.3  การพัฒนากลยุทธ์การตลาด
7)  จิตวิทยาวิศวกรรม (Engineering Psychology)
7.1  การออกแบบสภาพแวดล้อมในการทำงาน
7.2  การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานกับเครื่องจักรของบุคลากร
7.3  การพัฒนาเทคโนโลยีด้านระบบและการบังคับบัญชา

บทบาทของจิตวิทยาอุตสาหกรรมกับการบริหารการเปลี่ยนแปลงในฐานะของ Change Agent”  ในองค์การ คือ ต้องพยายามทำให้ทุกคนในองค์การสามารถรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างเต็มใจ มีส่วนร่วมและเป็นแนวร่วมที่เห็นถึงความสำคัญประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง เป็นแนวร่วมผลักดันให้เกิดความเข้าใจพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยไม่เกิดความเครียดซึ่งจะส่งผลต่อชีวิตส่วนตัวของบุคคลหรือเกิดการต่อต้านและกลายเป็นปัญหาในองค์การต่อไป
การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติและเกิดขึ้นอยู่ทุกวันความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน  ในองค์การอุตสาหกรรมหรือบริษัทต่าง ๆ นั้น  ความเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ  ดังนี้
1)  ธรรมชาติของคน พบว่า ในหลายองค์กรปัจจุบันมีลักษณะของวัฒนธรรมข้ามชาติ คือ มีหลากหลายชาติมารวมกันอยู่จะทำให้คนที่ทำงานอยู่ในองค์การนั้น ต้องปรับตัวเข้าหากัน เพศที่ต่างกัน อายุที่แตกต่างกัน ทักษะที่แตกต่างกัน ล้วนทำให้องค์กรต้องคอยปรับเปลี่ยนนโยบายต่าง ๆ ตลอดเวลาเพื่อสามารถดึงดูดและรักษากลุ่มพนักงานที่มีความแตกต่างกันให้สามารถทำงานร่วมกันในองค์กรได้อย่างมีความสุข
2)  เทคโนโลยีใหม่  การมีอุปกรณ์ใหม่  มีระบบคอมพิวเตอร์ใหม่  มีระบบการทำงานใหม่ ๆ เช่น การนำระบบ Reengineering  มาใช้ในการทำงานส่งผลให้สายการควบคุมบังคับบัญชาในองค์การ มีลักษณะกว้างขึ้นและสั้นลง ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนตำแหน่งงานการจัดการฝึกอบรม เพื่อยกระดับความสามารถของพนักงานให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีเหล่านั้น
3)  สภาพเศรษฐกิจ ภาวะตกต่ำในตลาดหุ้น อัตราดอกเบี้ยและค่าเงินตราต่างประเทศ ที่มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตลอดเวลาส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น เช่น สถาบันการเงินต่างในประเทศที่ปิดตัวลง มีการปลดพนักงานจำนวนมาก หรือการซบเซาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  อันเนื่องจากความล้มเหลวทางการเงิน
4)  คู่แข่งขัน จะพบว่าคู่แข่งขันในธุรกิจได้เปลี่ยนไปการแข่งขันปัจจุบันเป็นการแข่งขันในตลาดโลกคู่แข่งขันบางรายมีการรวมธุรกิจเข้าด้วยกันกลายเป็นบริษัทที่มีศักยภาพสูงขึ้นตลาดการแข่งขันที่สูงขึ้นหมายถึงจำเป็นจะต้องพัฒนาตลอดเวลาพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ๆ เพื่อต่อสู่กับคู่แข่งขันได้อย่างทันท่วงที  พนักงานต้องมีความยืดหยุ่น และสามารถตอบสนองต่อสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็ว
5)  แนวโน้มทางสังคม    เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กลยุทธ์ทางธุรกิจเปลี่ยนไปพบว่า  คนในสังคมปัจจุบันจะแต่งงานช้าลง คนโสดมีมากขึ้น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดและรูปแบบของบ้านที่จะผลิตออกมาสู่ตลาดต้องมุ่งตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้ การที่คนอยู่คนเดียวมากขึ้นทำให้ขนาดของผลิตภัณฑ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในบ้านต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับการอยู่คนเดียว เห็นได้ชัดจากหม้อหุงข้าวขนาดเล็ก ๆ
6)  ระบบการเมืองในโลก  การล่มสลายของโซเวียต การทำลายกำแพงเบอลิน และการรวมตัวกันอีกครั้งของเยอรมัน การที่อิรักบุกคูเวต การเปิดประเทศของจีน  สงครามในอิรัก  ส่งผลต่อการทำธุรกิจในตลาดโลกทั้งสิ้น  เห็นได้จากการที่โรงงานหลายแห่งที่ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยของเราต้องปิดตัวลง เพราะตลาดแรงงานที่ประเทศจีนมีราคาต่ำกว่า ส่งผลให้เกิดภาวะการณ์ว่างงานในประเทศไทย


2.   ความต้องการและการประยุกต์ใช้จิตวิทยาการจัดองค์กรอุตสาหกรรม 
องค์การต่าง ๆ ตั้งขึ้นมาก็เพื่อวัตถุประสงค์ต่างกัน  เช่น ธุรกิจอุตสาหกรรม  มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน  คือ  เพื่อผลิตสินค้าหรือการบริการเพื่อผลกำไร  ดังนั้นองค์การธุรกิจอุตสาหกรรมจึงต้องมีการปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและการบริการอยู่ตลอดเวลา เพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้และผู้บริโภค ต้องมีการปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและการบริการอยู่ตลอดเวลาเพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้และผู้บริโภค  และการที่จะทำอย่างนี้ได้ องค์การจะต้องคำนึงถึงปัญหาและอุปสรรคทางจิตวิทยาที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับองค์กร คือ
1)  ปัญหาอุตสาหกรรมสมัยใหม่  สมัยก่อนองค์การธุรกิจอุตสาหกรรมส่วนมากจะมีขนาดเล็ก การสื่อสารภายในองค์กรระหว่างผู้บริหารกับคนงานไม่ค่อยมีปัญหามากนัก ปัจจุบันองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมมีขนาดใหญ่ขึ้น บางองค์การได้ขยายออกไปตามเมืองใหญ่ ๆ  หรือมีสาขาในต่างประเทศ เช่น  ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด องค์กร เหล่านี้มีพนักงานเป็นจำนวนมากเป็นพันคนขึ้นไปจนถึงหลายพันคน  ปัญหาย่อมเกิดขึ้นแน่นอน  เพราะความสลับซับซ้อนขององค์กรนั่นเองจึงทำให้องค์กรจะต้องจัดระบบโครงสร้างและมีขอบข่ายการสั่งงานอย่างเป็นระบบอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบจะต้องกำหนดแน่นอน องค์กรเช่นนี้จึงเป็นองค์กรที่ขาดระบบมิได้เป็นไปตามที่คนงานใช้หลักมนุษยสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน  โครงสร้างขององค์กรไม่ว่าจะมีรูปแบบอย่างไรก็ตาม ในทางจิตวิทยาแล้วจะมีปัญหาคล้ายคลึงกัน  แต่ความพึงพอใจในงานของคนงานจะไม่มีความแน่นอน เพราะความพึงพอใจจะมีตัวแปรเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย เช่น  โครงสร้างขององค์กร นโยบายการบริหารงาน การสื่อสาร ถ้าองค์กรมีโครงสร้างแบบงานหลักและงานที่ปรึกษา  (Line  and  Staff  Organization)   เป็นองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะมีผู้บริหาร แบบ คือ  แบบสายงาน (Line)  และฝ่ายบุคคล (Staff)  ก็จะทำให้ความคิดของผู้บริหารทั้ง 2 เกี่ยวกับการสรรหาบุคลากรเพื่อรับการบรรจุเข้าทำงาน ผู้บริหารด้านบุคลากรอาจจะเกิดความไม่พึงพอใจในการทำงาน เพราะเขาไม่สามารถจะใช้อำนาจในการตัดสินใจได้ว่าจะบรรจุใครเข้าทำงาน  ในทางปฏิบัติผู้บริหารในสายงานจะมีอำนาจในการตัดสินใจ    ขณะเดียวกันผู้บริหาร
ในสายงานก็ต้องการคำแนะนำจากฝ่ายบุคคล  เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ  แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายมีความคิดเห็นตรงกัน ฝ่ายบุคคลก็จะยอมรับอำนาจการตัดสินใจของฝ่ายสายงานว่าถูกต้องแล้ว ถ้าทั้งสองฝ่ายมีความคิดเห็นไม่ตรงกันและฝ่ายสายงานบรรจุคนที่ฝ่ายบุคคลไม่เห็นด้วย ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งและความไม่พอใจก็จะเกิดขึ้นได้
2)  ปัญหาสายงานความรับผิดชอบในองค์กรทุกองค์กร จะมีสายงานความรับผิดชอบและในงานแต่ละหน้าที่  ไม่ควรใช้คนรับผิดชอบมากเกินไปหรือให้ทุกคนมีหน้าที่รายงานต่อผู้บริหาร เพราะถ้ามากเกินไปจะทำให้เกิดความสับสนและยุ่งยากต่อการบริหารงาน เช่น  องค์การใหญ่ ๆ  อาจจะมีนักจิตวิทยาอุตสาหกรรมทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบุคลากร (Human Factors Specialist)  ทำวิจัยเกี่ยวกับผู้บริโภค (Consumer Researcher) หรือมีนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ระดับคนงานในองค์กร ถ้าเป็นองค์การขนาดกลางผู้บริหารจะทำหน้าที่ควบคุมหรือกำกับดูแลเกี่ยวกับการพัฒนาผลผลิต  การจัดจำหน่ายแทนที่จะมีบุคคลอื่นเป็นผู้ควบคุม
3)  ปัญหาโครงสร้างองค์กร  โครงสร้างองค์การไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ตามจะมีปัญหาทั้งสิ้นถ้าหากองค์กรขาดการประสานงานที่ดี  ถ้าเป็นองค์การขนาดกลางและใหญ่ จะมีปัญหามาก กว่าองค์กรขนาดเล็ก เพราะองค์กรขนาดกลางและใหญ่จะขาดการยืดหยุ่น (Flexibility)ในการบริหารงานอย่างมาก จะต้องทำตามกฎระเบียบที่วางไว้ เมื่อเกิดปัญหา       ผู้ควบคุมงานในระดับต่าง ๆ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้ตรงกับความต้องการของผู้บริหารระดับสูงได้ เนื่องจากองค์กรไม่มีความยืดหยุ่นหรือมีก็ไม่เพียงพอ เช่น การขาดแคลนวัสดุ เครื่องจักรชำรุดหรือปัญหาการจัดจำหน่าย ซึ่งเกิดจากคน (Human) ทั้งสิ้น เป็นปัญหาทางจิตวิทยาองค์กรสมัยใหม่ พยายามนำเอาการวิเคราะห์ระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระบบการควบคุมติดต่อสื่อสาร    ตลอดจนการทำงานโดยอัตโนมัติ (Automation) มาช่วยในการดำเนินกิจการต่าง ๆ  ในองค์การเพื่อนำมาใช้ในการควบคุม และแก้ปัญหาต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเกี่ยวกับแรงงานมนุษย์
4) ปัญหาขนาดขององค์กร  เมื่อพิจารณาถึงขนาดขององค์กร  องค์กรจะมีปัญหาแตกต่างกัน เช่น องค์กรขนาดใหญ่จะมีความล่าช้าในการตัดสินใจ  ปัญหาความพึงพอใจ  ปัญหาการใช้อำนาจในการสั่งการ  เพราะองค์กรขนาดใหญ่จะมีคนงานมากนั่นเอง หรือบางครั้งการผลิตและผลกำไรขององค์กรขนาดใหญ่จะต่ำกว่าองค์กรขนาดเล็ก  หรือคนงานในองค์กรขนาดเล็กจะมีความพึงพอใจมากกว่าองค์กรขนาดใหญ่เพราะคนงานรู้จักกันและกัน
5)  ปัญหาระหว่างความต้องการของผู้บริหาร       และความต้องการของคนงาน  ความต้องการระหว่างผู้บริหารและความต้องการของคนงานที่มีความแตกต่างกัน ก็จะทำให้องค์กรขาดดุลยภาพ
6)  ปัญหาการคัดเลือกฝึกอบรมและการบรรจุพนักงาน   นักจิตวิทยาจะต้องพิจารณาดูว่าองค์กรอุตสาหกรรมควรจะมีอะไรบ้างในปัจจุบันและอนาคต  เพื่อจะช่วยแก้ไขปัญหาอันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างบุคคลในองค์กร   ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาอาจจะต้องใช้จิตวิทยาบุคคลและจิตวิทยาวิศวกรรมมาใช้ในการจัดการทรัพยากรบุคคล เช่น การคัดเลือก   การฝึกอบรมและการบรรจุพนักงานที่มีประสิทธิภาพ     เพื่อองค์การจะได้เป็นองค์การที่มีประสิทธิภาพในอนาคต
7)  ปัญหาการประสานงานระหว่างแผนกต่าง ๆ ในองค์การ องค์กรอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะแบ่งงานและจัดสายงานตามลักษณะงาน        ดังนั้น การประสานงานของกลุ่มต่าง ๆ ในงานอุตสาหกรรมจึงเป็นปัญหาทางจิตวิทยาเพราะหน่วยงานต่าง ๆ เป็นที่รวมของคนงานและคนงานแต่ละคนมีเจตคติ การศึกษา  ความรู้  ความสนใจ  ความถนัด อาจจะเหมือนกันหรือแตกต่างกัน  สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาระหว่างคนงานทั้งสิ้นจะกลายเป็นปัญหาขององค์การต่อไป เพราะฉะนั้นผู้บริหารควรหาเทคนิควิธีที่จะทำให้คนงานในองค์การเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
8)  ปัญหาความอยู่รอดขององค์กร  องค์กรอยู่รอดหรือไม่นั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือการจัดระบบการสรรหาบุคคล การสรรหาทรัพยากร การสรรหาตลาด การสรรหาลูกค้าให้ถูกต้อง และเหมาะสมตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่หรือนำความคิดใหม่ ๆ     มาใช้ในการปรับปรุงการผลิตเพราะสิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้เป็นหลักการทางจิตวิทยาทั้งสิ้นที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดได้
9) ปัญหาการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้  ถ้าองค์การได้นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ  มาใช้เพื่อการผลิตสินค้าหรือปรับปรุงงาน  องค์กรมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกอบรมงานเพื่อให้คนงานสามารถทำงานกับเครื่องจักรใหม่ ๆ ได้  ซึ่งเป็นหลักทางจิตวิทยาที่จะทำให้คนงานได้พัฒนาตนเองในด้านความรู้และความสามารถที่จะทำงานในองค์กรนั้น ๆ ต่อไป
ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นเป็นปัญหาทางจิตวิทยาที่องค์กรต่าง ๆ  จำเป็นจะต้องให้ความสนใจและหาทางแก้ไขเพื่อที่จะทำให้คนงานมีขวัญกำลังใจ  มีความพึงพอใจ  มีความมั่นคงในการทำงาน  มีความก้าวหน้าในการทำงานหรือมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร ฯลฯ   เพราะถ้าคนงานเกิดทัศนคติที่ดีต่อองค์กรแล้วก็จะทำให้องค์การบรรลุวัตถุประสงค์ได้  คน (People) จึงนับว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญและเป็นศูนย์กลางของการบริหารเพราะการบริหารงานใด ๆ จะบรรลุ วัตถุประสงค์ได้นั้น ย่อมต้องอาศัยคนเป็นผู้กระทำการต้องเข้าใจถึงลักษณะความรู้สึก ความต้องการและการประสานงาน จึงนับว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้การบริหารองค์กรเป็นไปโดยราบรื่น  คนในฐานะที่เป็นปัจจัยในการบริหารองค์กรในทางปฏิบัติมักจะพิจารณาพฤติกรรมของคนด้วยกัน 3 ลักษณะ  คือ (1) ศึกษาพฤติกรรมของคนแต่ละคน   (2) พฤติกรรมของกลุ่ม  และ (3) พฤติกรรมของผู้นำทั้งนี้ เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยพื้นฐานทางจิตวิทยาต่าง ๆ  ที่มีผลต่อพฤติกรรมของคน คือ ความสามารถ ความถนัด  ความคาดหมาย ความเข้าใจ  การรับรู้  ทัศนคติ  ค่านิยม  ผลกระทบของกลุ่มที่มีต่อพฤติกรรมของคนตลอดจนประสิทธิภาพของผู้นำการชักจูงพฤติกรรม สร้างทีมงานที่ดีให้เกิดขึ้นในองค์กร การใช้หลักการทางจิตวิทยาจึงมีความสัมพันธ์กับองค์กรทุกองค์กร 

3.  ปัญหาของจิตวิทยาการจัดองค์กรอุตสาหกรรม 
จิตวิทยาเกี่ยวข้องโดยตรงกับอุตสาหกรรมเพราะจิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมมนุษย์ในงานอุตสาหกรรม จะประกอบไปด้วยคนจำนวนมากร่วมกันทำงาน  แต่ละบุคคลมีพฤติกรรมเฉพาะอย่างของแต่ละคน  การร่วมกันทำงานที่มีคนเป็นจำนวนมากก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง  การกระทบกระทั่งกันเป็นผลทำให้การทำงานติดขัดและอาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ ความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์อย่างถูกต้องและการจัดการอย่างจริงจัง จะทำให้ปัญหาดังกล่าวลดลง  การทำงานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น  คนมีความสุขมากขึ้น  วิชาจิตวิทยาจึงมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาในโรงงานอุตสาหกรรมได้หลายประเด็น คือ
1) นักจิตวิทยามีเครื่องมือในการคัดเลือกคนที่เหมาะสมเข้าทำงานตามความถนัด ซึ่งในโรงงานใดถ้าได้คนที่มีความพร้อม มีความถนัดในเรื่องงานนั้น ๆ  ก็ไม่ต้องเสียเวลาฝึกหัดและถ้าคนได้ทำงานตามความถนัดของตนย่อมเกิดความพึงพอใจและจะพยายามทำงานให้ดีที่สุด  ปัญหาความพึงพอใจในงานมีองค์ประกอบมากมาย และความพึงพอใจของคนงานแต่ละคนแตกต่างกัน   หากคนงานไม่พึงพอใจในการทำงานจะส่งผลกระทบต่อองค์การนักจิตวิทยา จึงต้องสังเกตและวัดความรู้สึกไม่พึงพอใจในการทำงานและหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดปัญหาความขัดแย้ง การกระทบกระทั่งกัน เป็นผลทำให้การทำงานติดขัดและอาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ ความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์อย่างถูกต้องและการจัดการอย่างจริงจัง  จะทำให้ปัญหาดังกล่าวลดลง การทำงานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น คนมีความสุขมากขึ้น วิชาจิตวิทยามีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาในโรงงานอุตสาหกรรมได้หลายประเด็น คือ
2) เนื่องจากนักจิตวิทยามีเครื่องมือตามที่กล่าวข้างต้น    ปัญหาการจัดหาคนให้เหมาะสมกับงาน  การคัดเลือกคนให้เหมาะสมกับงาน ต้องวิเคราะห์งานและวิเคราะห์คน  เพื่อให้ได้คนที่มีความรู้ความสามารถตรงตามที่องค์กรต้องการ จึงต้องให้คำปรึกษาการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งบุคลากรให้เหมาะสมตามความสามารถได้
3) นักจิตวิทยาสามารถช่วยเหลือปัญหาทางสุขภาพจิต    ความเครียดในการทำงาน   ความเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจ  นักจิตวิทยาต้องตรวจสอบวัดมาตรฐาน และกำจัดหรือลดให้เหลือน้อยที่สุดด้วยการสำรวจสุขภาพจิตของพนักงาน การให้คำปรึกษาสามารถลดความเครียดทางจิตได้ นักจิตวิทยาสามารถช่วยในการจัดโปรแกรมเพื่อลดความเครียดของพนักงานและป้องกันปัญหาความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ถ้าใช้จิตวิทยาในการทำงานได้อย่างสร้างสรร จะมีระบบการสื่อสารที่ดีต่อกัน เข้าใจการทำงานร่วมกัน เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น มีหลักในการบริหารสามารถใช้ความรู้ในการจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้นซึ่งเป็นการลดปัญหาในการทำงานให้น้อยลง
4) ปัญหาการเพิ่มผลผลิต   ซึ่งนักจิตวิทยาต้องเข้าไปศึกษาปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและคนงานมีความสุขในการทำงาน การใช้หลักจิตวิทยาที่ถูกต้องในหน่วยงาน/องค์กร จะช่วยลดปัญหาต่าง ๆ ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ทำให้ทุกคนทำงานอย่างมีความสุข จิตวิทยาจึงเปรียบเสมือนน้ำมันหล่อลื่นที่จะทำให้การทำงานในองค์การมีประสิทธิผลสูงสุด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น